บาลีวันละคำ

พรหม (บาลีวันละคำ 524)

พรหม

บาลีเขียนเป็น “พฺรหฺม” (มีจุดใต้ พฺ และใต้ หฺ)

มีปัญหาว่า คำนี้จะอ่านออกเสียงว่าอย่างไร

ลองออกเสียงว่า พะ-ระ-หะ-มะ ช้าๆ แล้วค่อยๆ เร่งให้เร็วขึ้น จะได้เสียงที่ถูกต้องของคำว่า “พฺรหฺม” ในบาลี

แต่โดยทั่วไป นักเรียนบาลีในเมืองไทยออกเสียงว่า พรม-มะ หรือ พรำ-มะ ภาษาไทยออกเสียงว่า พรม (เสียงเดียวกับ ประพรมน้ำมนต์ พรมปูพื้น)

พฺรหฺม” รากศัพท์คือ พฺรห (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + ปัจจัย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ

ในแง่ภาษา คำว่า “พรหม” ในคัมภีร์บาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

1. ความดีประเสริฐสุด

2. คัมภีร์พระเวท, สูตรลึกลับ, คาถา, คำสวดมนต์

3. เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล

4. เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก

5. สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์

ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พรหม” หมายถึง –

1. เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์

2. เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น

3. ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา (ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข) กรุณา (ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา) มุทิตา (ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง) อุเบกขา (วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว)

พรหมแบบแรก มีอยู่ได้ในความเชื่อ

พรหมแบบที่สอง เห็นได้ด้วยใจที่ฝึกฝนจนถึงระดับ

พรหมแบบที่สาม ทุกคนสามารถเป็นได้ด้วยตัวเอง

:อยากเชื่อ อยากเห็น หรืออยากเป็น – ก็เลือกเอา

——————

(Nonglak Ch ปรารภว่า มีผู้แปลคำว่า mentor ว่า “พรหมาจารย์” ฟังดูแปลกๆ จึงอยากทราบว่าคำว่า “พรหม” มีความหมายอย่างไร)

21-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย