บาลีวันละคำ

ยทิทัง (ชุดสังฆคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,783)

ยทิทัง (ชุดสังฆคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระสังฆคุณว่าดังนี้ –

…………..

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา

เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ

อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระสังฆคุณ 9 บทว่า “ยทิทัง” เป็นบทประกอบในประโยค ไม่ใช่คำแสดงสังฆคุณ

คำว่า “ยทิทัง” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “ยะทิทัง” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “ยทิทัง” อ่านว่า ยะ-ทิ-ทัง

“ยทิทัง” เขียนแบบบาลีเป็น “ยทิทํ” อ่านว่า ยะ-ทิ-ทัง ประกอบด้วยคำว่า ยํ + อิทํ

(๑) “ยํ”

อ่านว่า ยัง รูปคำเดิมเป็น “ย” อ่านว่า ยะ เป็นศัพท์จำพวก “สัพพนาม” แปลว่า “ใด” นักเรียนบาลีเรียกกันว่า “ย-ศัพท์” (ยะ-สับ) = ศัพท์ว่า ย คู่กับ “ต” (ตะ) แปลว่า “นั้น” นักเรียนบาลีเรียกกันว่า “ต-ศัพท์” (ตะ-สับ) = ศัพท์ว่า ต

“ย-ศัพท์” ใช้ในฐานะเป็นคำขยายหรือ “วิเสสนะ” ต้องมีคำนามที่เป็นเจ้าของมารองรับ เช่น คนใด สิ่งใด ตัวใด ที่ใด ฯลฯ

“ย” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ยํ”

(๒) “อิทํ”

อ่านว่า อิ-ทัง รูปคำเดิมเป็น “อิม” อ่านว่า อิ-มะ เป็นศัพท์จำพวก “สัพพนาม” แปลว่า “นี้” นักเรียนบาลีเรียกกันว่า “อิม-ศัพท์” (อิ-มะ-สับ) ใช้ในฐานะเป็นคำขยายหรือ “วิเสสนะ” ต้องมีคำนามที่เป็นเจ้าของมารองรับ เช่น คนนี้ สิ่งนี้ ตัวนี้ ที่นี้ฯลฯ

“อิม” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อิทํ”

ยํ + อิทํ แปลงนิคหิคที่ ยํ เป็น ท (ยํ > ยท + อิทํ) อีกนัยหนึ่ง ลบนิคหิตที่ ย แล้วลง ท อาคม (ยํ > ย + ท + อิทํ)

: ยํ > ยท + อิทํ = ยทิทํ

: ยํ > ย + ท + อิทํ = ยทิทํ

“ยทิทํ” แปลตามศัพท์หรือแปลโดยพยัญชนะว่า “นี้ใด” “นี้ไรเล่า” แปลโดยอรรถว่า “คือ”

คำในบทสังฆคุณว่า “ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา” จึงแปลว่า “คือ คู่แห่งบุรุษ 4 บุรุษบุคคล 8”

ในทางหลักไวยากรณ์หรือหลักภาษา คำว่า “ยทิทํ” ยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อนอีกมาก ทั้งในแง่วิธีแปลและแง่วากยสัมพันธ์ แสดงในที่นี้พอเป็นพื้นฐาน เมื่อสวดสาธยายเจริญสังฆคุณถึงคำนี้จะได้มีความรู้พอกำหนดความหมายระลึกตามไปได้เป็นทางเจริญปัญญา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าอายถ้าใครจะว่าสวดมนต์เป็นนกแก้วนกขุนทอง

: คนที่รู้ความหมายแต่ไม่สวดไม่ท่องนั่นสิน่าอาย

#บาลีวันละคำ (3,783)

21-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *