บาลีวันละคำ

สามีจิปฏิปันโน (ชุดสังฆคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,782)

สามีจิปฏิปันโน (ชุดสังฆคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระสังฆคุณว่าดังนี้ –

…………..

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา

เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ

อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระสังฆคุณ 9 ท่านนับบทว่า “สามีจิปฏิปันโน” เป็นบทที่ 4

คำว่า “สามีจิปฏิปันโน” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “สามีจิปะฏิปันโน” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “สามีจิปฏิปันโน” อ่านว่า สา-มี-จิ-ปะ-ติ-ปัน-โน

“สามีจิปฏิปันโน” เขียนแบบบาลีเป็น “สามีจิปฏิปนฺโน” อ่านว่า สา-มี-จิ-ปะ-ติ-ปัน-โน รูปคำเดิมเป็น “สามีจิปฏิปนฺน” อ่านว่า สา-มี-จิ-ปะ-ติ-ปัน-นะ ประกอบด้วย สามีจิ + ปฏิปนฺน

(๑) “สามีจิ”

อ่านว่า สา-มี-จิ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี) + อจฺ (ธาตุ = บูชา, เคารพ, นับถือ) + อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม แล้วทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ ส เป็น อา (สํ > สม > สาม), ลง อิ อาคมระหว่างอุปสรรคกับธาตุแล้วทีฆะเป็น อี

: สํ > สม > สาม + อิ + อจฺ = สามิจฺ + อิ = สามิจิ > สามีจิ แปลตามศัพท์ว่า “การบูชาอย่างดี”

พจนานุกรมบาลี – อังกฤษ ของ ริส เดวิดส์ (The Pali Text Society’s Pali-English Dictionary edited by T. W. Rhys Davids) เสนอความเห็นว่า รากเดิมมาจาก “สมฺมา” ซึ่งแปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)

“สมฺมา” บาลีเก่ายุคพระเวทเป็น “สมฺยจฺ” (samyac) แจกรูปเป็น “สมีจิหฺ” (samīcīḥ) แล้วกลายมาเป็น “สามีจี” และ “สามีจิ”

พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา BUDSIR 7 for Windows บอกว่า

“สามีจิ : (คำคุณศัพท์) ชอบ, งาม.”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

“สามีจี : (คำคุณศัพท์) . สดุดี; praise.”

(๒) “ปฏิปนฺน”

อ่านว่า ปะ-ติ-ปัน-นะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ปทฺ > ป), แปลง ต เป็น นฺน (หรือนัยหนึ่ง แปลง ทฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น นฺน)

: ปฏิ + ปทฺ = ปฏิปทฺ + ต = ปฏิปทฺต > ปฏิปนฺน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปถึงเฉพาะ” “ผู้ดำเนินไป” “ผู้ปฏิบัติ”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิปนฺน” ว่า [having] followed or following up, reaching, going along or by [i. e. practising], entering on, obtaining ([ได้] ดำเนินตามหรือกำลังติดตาม, ไปตามหรืออาศัย [คือปฏิบัติ], เข้าสู่, ได้รับ)

สามีจิ + ปฏิปนฺน = สามีจิปฏิปนฺน แปลว่า “ผู้ไปถึงด้วยปฏิปทาอันสมควร” “ผู้ดำเนินไปโดยทางที่สมควร” “ผู้ปฏิบัติสมควร”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สามีจิปฏิปนฺน” ว่า correct in life (ถูกต้องในชีวิต)

ในที่นี้ “สามีจิปฏิปันน” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “สาวกสงฺโฆ” (พระสงฆ์สาวก, ที่คำขึ้นต้นว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย

“สาวกสงฺโฆ” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์

“สามีจิปฏิปนฺน” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สามีจิปฏิปนฺโน” เขียนแบบไทยเป็น “สามีจิปฏิปันโน”

ขยายความ :

“สามีจิปฏิปันโน” เป็นคุณนามบทที่ 4 ของพระสงฆ์

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 280 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงลักษณะของ “สามีจิปฏิปันโน” ไว้ดังนี้ –

…………..

ยสฺมา ปน สา สมฺมาปฏิปทา … อนุจฺฉวิกตฺตา จ สามีจีติปิ สงฺขํ คตา ตสฺมา ตํ ปฏิปนฺโน อริยสงฺโฆ … สามีจิปฏิปนฺโนติปิ วุตฺโต ฯ

ประการหนึ่ง สัมมาปฏิปทานั้นได้ชื่อว่า สามีจิ เพราะเป็นปฏิปทาอันสมควร ดังนี้ก็มี เพราะเหตุนั้น พระอริยสงฆ์ผู้ดำเนินปฏิปทานั้น จึงได้ชื่อว่า สามีจิปฏิปนฺโน (ปฏิบัติสมควร)

ยถา ปฏิปนฺนา สามีจิกมฺมารหา โหนฺติ ตถา ปฏิปนฺนตฺตา สามีจิปฏิปนฺโน ฯ

บุคคลทั้งหลายปฏิบัติด้วยประการใด จึงเป็นผู้ควรแก่สามีจิกรรม เพราะปฏิบัติด้วยประการนั้น จึงชื่อ สามีจิปฏิปนฺโน

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สามีจิปฏิปนฺโน” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

สามีจิปฏิปนฺโน : (พระสงฆ์) เป็นผู้ปฏิบัติชอบ, ปฏิบัติสมควรได้รับสามีจิกรรม คือ ปฏิบัติน่าเคารพนับถือ (ข้อ ๔ ในสังฆคุณ ๙)

…………..

แถม :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สามีจิกรรม : (คำนาม) การแสดงความเคารพตามธรรมเนียมของพระเณรในระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย เช่น ระหว่างพระอุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริก ระหว่างอาจารย์กับอันเตวาสิก หรือระหว่างผู้แก่พรรษากับผู้อ่อนพรรษากว่า. (ส.; ป. สามีจิกมฺม).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อำนาจทำให้คนกลัวได้

: แต่ทำให้คนนับถือไม่ได้

#บาลีวันละคำ (3,782)

20-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *