บาลีวันละคำ

ปุริสยุคานิ – ปุริสปุคคลา (ชุดสังฆคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,784)

ปุริสยุคานิ – ปุริสปุคคลา (ชุดสังฆคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระสังฆคุณว่าดังนี้ –

…………..

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา

เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ

อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระสังฆคุณ 9 บทว่า “ปุริสยุคานิ – ปุริสปุคคลา” เป็นบทประกอบในประโยค ไม่ใช่คำแสดงสังฆคุณ

คำว่า “ปุริสยุคานิ – ปุริสปุคคลา” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “ปุริสะยุคานิ – ปุริสะปุคคะลา” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “ปุริสยุคานิ – ปุริสปุคคลา”

“ปุริสยุคานิ – ปุริสปุคคลา” เป็นคำ 2 คำ คือ “ปุริสยุคานิ” คำหนึ่ง “ปุริสปุคคลา” คำหนึ่ง

“ปุริสยุคานิ” อ่านว่า ปุ-ริ-สะ-ยุ-คา-นิ ประกอบด้วยคำว่า ปุริส + ยุคานิ

“ปุริสปุคคลา” อ่านว่า ปุ-ริ-สะ-ปุก-คะ-ลา ประกอบด้วยคำว่า ปุริส + ปุคฺคลา

(๑) “ปุริส”

อ่านว่า ปุ-ริ-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุร (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย

: ปุร + อิส = ปุริส แปลว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”

(2) ปุ ( = นรก) + ริส (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด)

: ปุ + ริส = ปุริส แปลว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ”

(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่)

: ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า

(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป)

: ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า

(5) ป ( = ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน)

: ป + อุร = ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ”

“ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“บุรุษ, บุรุษ- : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ; (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คำสรรพนามบอกผู้พูด เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๑, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดด้วย เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๒, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดถึง เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๓. (ส. ปุรุษ; ป. ปุริส).”

พึงทราบว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้

(๒) “ยุคานิ”

อ่านว่า ยุ-คา-นิ รูปคำเดิมเป็น “ยุค” อ่านว่า ยุ-คะ รากศัพท์มาจาก ยุช (ธาตุ = ประกอบ) + อ (อะ) ปัจจัย แปลง ชฺ เป็น ค

: ยุชฺ + อ = ยุช > ยุค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกอบกันอยู่”

“ยุค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) แอก, ไม้ขวางเทียมคันไถตามปกติ หรือเทียมรถ (the yoke of a plough usually or a carriage)

(2) สิ่งที่ถูกเทียมหรือควรเข้ากับแอกคู่หนึ่ง, 2 ตัว (what is yoked or fits under one yoke a pair, couple)

(3) เกี่ยวเนื่องโดยสืบสายชั่วคน, ยุค (connected by descent generation, an age)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ยุค” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) ยุค ๑ : (คำนาม) แอก. (ป., ส.).

(2) ยุค ๒ : (คำนาม) คู่, ทั้งสอง. (ป., ส.).

(3) ยุค ๓ : (คำนาม) คราว, สมัย, เช่น ยุคมืด ยุคหิน; กําหนดเวลาของโลก มี ๔ ยุค. (ดู จตุรยุค). (ป., ส.).

ในที่นี้ “ยุค” มีความหมายตาม “ยุค ๒”

“ยุค” ในบาลี แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหุวจนะ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ยุคานิ” อ่านว่า ยุ-คา-นิ แปลว่า “คู่ทั้งหลาย” (คือมีหลายคู่ ไม่ใช่คู่เดียว)

(๓) “ปุคคลา”

เขียนแบบบาลีเป็น “ปุคฺคลา” (มีจุดใต้ คฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ปุก-คะ-ลา รูปคำเดิมเป็น “ปุคฺคล” อ่านว่า ปุก-คะ-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (นรก) + คลฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน คฺ

: ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก”

(2) ปูติ (ของบูดเน่า) + คลฺ (ธาตุ = กิน) + อ (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ปู-(ติ) เป็น อุ แล้วลบ ติ (ปูติ > ปุติ > ปุ), ซ้อน คฺ

: ปูติ > ปุติ > ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า”

(3) ปุคฺค (อาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็ม) + ลา (ธาตุ = กิน) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบ อา ที่ ลา (ลา > ล)

: ปุคฺค + ลา = ปุคฺคลา > ปุคฺคล + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้)

(4) ปูร (เต็ม) + คล (เคลื่อน), รัสสะ อู ที่ ปู-(ร) เป็น อุ แล้วลบ ร (ปูร > ปุร > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่าง ปูร + คล

: ปูร > ปุร > ปุ + คฺ + คล = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)

“ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –

(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man)

(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)

“ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

“บุคคล, บุคคล- : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –

“บุคคล, บุคคล- : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

บาลี “ปุคฺคล” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหุวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปุคฺคลา” อ่านว่า ปุก-คะ-ลา แปลว่า “บุคคลทั้งหลาย” (คือมีหลายคน ไม่ใช่คนเดียว)

การประสมคำ :

๑ ปุริส + ยุคานิ = ปุริสยุคานิ (ปุ-ริ-สะ-ยุ-คา-นิ) แปลว่า “คู่แห่งบุรุษ”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุริสยุคานิ” ว่า pairs of men (คู่แห่งบุรุษ)

๒ ปุริส + ปุคฺคลา = ปุริสปุคฺคลา (ปุ-ริ-สะ-ปุก-คะ-ลา) แปลว่า “บุคคลผู้เป็นบุรุษ”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุริสปุคฺคล” ว่า a man, a human character (บุคคล, ผู้ที่เป็นคน)

พึงทราบว่า คำว่า “ปุริส” หรือ “บุรุษ” ในคำคู่นี้ ไม่ได้หมายถึง “ผู้ชาย” ที่เป็นเพศตรงกันข้ามกับ “ผู้หญิง” เท่านั้น หากแต่หมายถึง “คน” หรือ “มนุษย์” โดยไม่จำกัดว่าเป็นเพศไหน

ขยายความ :

คำบาลีที่เป็นเต็มของคำคู่นี้ คือ –

(๑) “จตฺตาริ ปุริสยุคานิ” แปลว่า “คู่แห่งบุรุษ 4 คู่”

จำแนกเป็นดังนี้ –

คู่ที่ 1 ผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค คู่กับผู้บรรลุโสดาปัตติผล

คู่ที่ 2 บรรลุสกทาคามิมรรค คู่กับผู้บรรลุสกทาคามิผล

คู่ที่ 3 บรรลุอนาคามิมรรค คู่กับผู้บรรลุอนาคามิผล

คู่ที่ 4 บรรลุอรหัตมรรค คู่กับผู้บรรลุอรหัตผล

(๒) “อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา” แปลว่า “บุรุษบุคคล 8 บุคคล”

จำแนกเป็นดังนี้ –

1 บุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค

2 บุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผล

3 บุคคลผู้บรรลุสกทาคามิมรรค

4 บุคคลผู้บรรลุสกทาคามิผล

5 บุคคลผู้บรรลุอนาคามิมรรค

6 บุคคลผู้บรรลุอนาคามิผล

7 บุคคลผู้บรรลุอรหัตมรรค

8 บุคคลผู้บรรลุอรหัตผล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความดีไม่ได้สงวนไว้เฉพาะบุรุษ

: ความบริสุทธิ์ไม่ได้สงวนไว้เฉพาะสตรี

#บาลีวันละคำ (3,784)

22-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *