บาลีวันละคำ

มหาบุรุษลักษณะ (บาลีวันละคำ 3,798)

มหาบุรุษลักษณะ

เรื่องใหญ่ แต่ไม่ยากที่เรียนรู้

อ่านตามหลักภาษาว่า มะ-หา-บุ-หฺรุด-สะ-ลัก-สะ-หฺนะ (มี -สะ- ระหว่าง มหาบุรุษ กับ ลักษณะ)

อ่านตามสะดวกปากว่า มะ-หา-บุ-หฺรุด-ลัก-สะ-หฺนะ (ไม่มี -สะ- ระหว่างคำ)

ประกอบด้วยคำว่า มหาบุรุษ + ลักษณะ

(๑) “มหาบุรุษ”

ประกอบด้วยคำว่า มหา + บุรุษ

(ก) “มหา” (มะ-หา) รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหันต- เข้าสมาสกับ -บุรุษ เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”

(ข) “บุรุษ” บาลีเป็น “ปุริส” (ปุ-ริ-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุร (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย

: ปุร + อิส = ปุริส แปลว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”

(2) ปุ ( = นรก) + ริส (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด)

: ปุ + ริส = ปุริส แปลว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ”

(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่)

: ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า

(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป)

: ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า

(5) ป ( = ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน)

: ป + อุร = ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ”

“ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ”

ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –

“บุรุษ : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ.”

พึงทราบว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้

มหนฺต + ปุริส = มหนฺตปุริส > มหาปุริส แปลตามศัพท์ว่า “คนผู้ยิ่งใหญ่”

“มหาปุริส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มหาบุรุษ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “มหาบุรุษ” ไว้

พจนานุกรมไทยฉบับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร มีคำว่า “มหาบุรุษ” บอกไว้ว่า –

“มหาบุรุษ : (คำนาม) บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ คนที่เกิดมาทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่มหาชน เช่น พระพุทธเจ้า พระเยซู พระมุฮัมมัด (มะหะหมัด) เป็นต้น.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

“มหาบุรุษ : บุรุษผู้ยิ่งใหญ่, คนที่ควรบูชา, ผู้มีมหาบุรุษลักษณะ เป็นคำใช้เรียกพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้.”

(๒) “ลักษณะ”

บาลีเป็น “ลกฺขณ” อ่านว่า ลัก-ขะ-นะ รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง น เป็น ณ

: ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง”

(2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย”

“ลกฺขณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ (sign, characteristic, mark, a distinguishing mark or salient feature, property, quality)

“ลกฺขณ” ใช้ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ลักษณ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ลักษณ-, ลักษณะ : (คำนาม) สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).”

มหาปุริส + ลกฺขณ = มหาปุริสลกฺขณ บาลีอ่านว่า มะ-หา-ปุ-ริ-สะ-ลัก-ขะ-นะ แปลว่า “เครื่องหมายแห่งมหาบุรุษ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มหาบุรุษลักษณะ”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “มหาบุรุษลักษณะ” แสดงรายการมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการไว้ดังนี้ –

…………..

มหาบุรุษลักษณะ : ลักษณะของมหาบุรุษ มี ๓๒ ประการ มาในมหาปทานสูตร แห่งทีฆนิกาย มหาวรรค และลักขณสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก โดยย่อ คือ

๑. สุปติฏฺฐิตปาโท มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

๒. เหฏฺฐาปาทตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ ลายพื้นพระบาทเป็นจักร

๓. อายตปณฺหิ มีส้นพระบาทยาว (ถ้าแบ่ง ๔, พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ ๓)

๔. ทีฆงฺคุลิ มีนิ้วยาวเรียว (หมายถึงนิ้วพระหัตถ์และพระบาทด้วย)

๕. มุทุตลนหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม

๖. ชาลหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าบาทมีลายดุจตาข่าย

๗. อุสฺสงฺขปาโท มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน

๘. เอณิชงฺโฆ พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย

๙. ฐิตโก ว อโนนมนฺโต อุโภหิ ปาณิตเลหิ ชณฺณุกานิ ปรามสติ เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองลูบจับถึงพระชานุ

๑๐. โกโสหิตวตฺถคุยฺโห มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก

๑๑. สุวณฺณวณฺโณ มีฉวีวรรณดุจสีทอง

๑๒. สุขุมจฺฉวิ พระฉวีละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย

๑๓. เอเกกโลโม มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้นๆ

๑๔. อุทฺธคฺคโลโม เส้นพระโลมาดำสนิท เวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน

๑๕. พฺรหฺมุชุคตฺโต พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม

๑๖. สตฺตุสฺสโท มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒, และหลังพระบาททั้ง ๒, พระอังสาทั้ง ๒, กับลำพระศอ)

๑๗. สีหปุพฺพฑฺฒกาโย มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์

๑๘. ปีตนฺตรํโส พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน

๑๙. นิโคฺรธปริมณฺฑโล ส่วนพระกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์)

๒๐. สมวฏฺฏกฺขนฺโธ มีลำพระศอกลมงามเสมอตลอด

๒๑. รสคฺคสคฺคี มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี

๒๒. สีหหนุ มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์)

๒๓. จตฺตาฬีสทนฺโต มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่)

๒๔. สมทนฺโต พระทนต์เรียบเสมอกัน

๒๕. อวิวรทนฺโต พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง

๒๖. สุสุกฺกทาโฐ เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์

๒๗. ปหูตชิวฺโห พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฏได้)

๒๘. พฺรหฺมสโร กรวิกภาณี พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก

๒๙. อภินีลเนตฺโต พระเนตรดำสนิท

๓๐. โคปขุโม ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด

๓๑. อุณฺณาภมุกนฺตเร ชาตา มีอุณาโลมระหว่างพระโขนง เวียนขวาเป็นทักษิณาวัฏ

๓๒. อุณฺหิสสีโส มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

…………..

สุภาพบุรุษ: คนดีของครอบครัว

มีอยู่ทั่วดื่นดาษ

รัฐบุรุษ: คนดีของประเทศชาติ

บ้านเมืองหนึ่งจะมีไม่กี่คน

มหาบุรุษ: คนดีของโลกเลิศล้น

นานๆ ทีจึงจะมีมาเกิด

ดูก่อนภราดาผู้ประเสริฐ!

: ท่านจะเป็นบุรุษประเภทใดดี?

#บาลีวันละคำ (3,798)

05-11-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *