พุทรา (บาลีวันละคำ 3,797)
พุทรา
ไม่ใช่ “พุดซา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พุทรา : (คำนาม) ชื่อไม้ต้นชนิด Ziziphus mauritiana Lam. ในวงศ์ Rhamnaceae กิ่งมีหนาม ผลมีทั้งกลมและรี, พายัพและอีสานเรียก ทัน หรือ หมากทัน. (ป., ส. พทร).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “พุทรา” บาลีและสันสกฤตเป็น “พทร”
“พทร” บาลีอ่านว่า พะ-ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทรฺ (ธาตุ = ทำลาย) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ป เป็น พ
: ป + ทรฺ = ปทรฺ + อ = ปทร > พทร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผลไม้ที่ทำลายความกระวนกระวายและความร้อนทางกายที่เป็นไป”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “พทร” ว่า ผลพุทรา, ผลกระเบา
พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง แปล “พทร” ว่า พุทรา, ไม้ปรู, จิงจ้อ, สะเดา, สลอด, กระเบา, มะดูก
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “พทร” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“พทร : (คำนาม) แผลงเปน- ‘พัทร,’ พุทรา, ผลพุทรา; ฝ้าย, เมล็ดฝ้าย; the jujube, the fruit of the jujube; cotton, cotton-seed.”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและขยายความคำว่า Badara (พทร) ว่า the fruit of the jujube tree (Zizyphus jujuba), not unlike a crabapple in appearance & taste, very astringent, used for medicine (พุทรา มีรูปร่างและรสคล้ายผลแอปเปิลป่าซึ่งฝาดมาก, ใช้เป็นยา)
อภิปรายขยายความ :
บาลีสันสกฤตเป็น “พทร” ทำไมภาษาไทยจึงเป็น “พุทรา”?
อาจจะเป็นเพราะในบาลีมีอีกศัพท์หนึ่งที่คล้ายกัน คือศัพท์ว่า “พทรา” อ่านว่า พะ-ทะ-รา รากศัพท์มาจาก พทฺ (ธาตุ = คงทน, มั่นคง) + อร (อะ-ระ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: พทฺ + อร = พทร + อา = พทรา แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่ทนทาน”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “พทรา” ว่า จิงจ้อ, ไม้ปรู, สะเดา, สลอด, กระเบา, ฝ้าย
พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง แปล “พทรา” ว่า ฝ้าย, พุทรา
น่าจะเป็นเพราะ “พทร” กับ “พทรา” มีความหมายพัวพันกันอยู่ คือแปลว่า พุทรา ได้ทั้งคู่ แต่ “พทรา” ออกเสียงราบรื่นดีกว่า เราจึงใช้คำว่า “พทรา” เรียกผลไม้ชนิดนี้ และกลายเสียงมาเป็น “พุทรา” แล้วกลายต่อไป คือออกเสียง ทร เป็น ซ
: พทร > พทรา > พุทรา > (พุด-ซา)
สมัยหนึ่ง มีผู้สะกดชื่อผลไม้ชนิดนี้เป็น “พุดซา” ตรงตามเสียง แต่พอมีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานประกาศใช้เป็นมาตรฐาน “พุดซา” ก็ค่อยๆ หายไป แต่เชื่อว่ายังมีหลายคนที่สะกดชื่อผลไม้ชนิดนี้เป็น “พุดซา” เพราะความเคยมือ
แถม :
สมัยที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นเด็กเลี้ยงวัว เคยอาศัยพุทราที่เกิดเองตามธรรมชาติหรือพุทราป่าเป็นที่พึ่งอยู่เนืองๆ คืออาศัยร่มเป็นที่นั่งหลบแดด และอาศัยผลเป็นเครื่องบรรเทาความหิว
…………..
ผลไม้บางชนิด กินแก้หิวได้ก็จริง
แต่กินให้อิ่มไม่ได้
ดูก่อนภราดา!
: คนไม่เป็นศัตรูกันก็ดีอยู่หรอก
: แต่ถ้าเป็นมิตรกันด้วยจะดีกว่า
#บาลีวันละคำ (3,797)
04-11-65
…………………………….
……………………………