บาลีวันละคำ

สกสมัย – ปรสมัย (บาลีวันละคำ 3,806)

สกสมัย – ปรสมัย

ฝากไว้ในวงวรรณ

“สกสมัย” อ่านว่า สะ-กะ-สะ-ไหฺม

“ปรสมัย” อ่านว่า ปะ-ระ-สะ-ไหฺม

มีคำบาลีที่ควรศึกษา 3 คำ คือ “สก” “ปร” และ “สมัย”

(๑) “สก”

บาลีอ่านว่า สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ส (สะ. = ตน) + ก (กะ)

“ก” (กะ) ตัวนี้ ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “ก-สกรรถ” อ่านว่า กะ-สะ-กัด

คำว่า “สกรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สกรรถ : (คำนาม) เรียกคำที่เพิ่มเข้าข้างหลังคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้ว มีความหมายคงเดิม หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ ว่า คำสกรรถ เช่น อากร (ในคำเช่น นรากร ประชากร) อาการ (ในคำเช่น คมนาการ ทัศนาการ) ชาติ (ในคำเช่น มนุษยชาติ ติณชาติ) ประเทศ (ในคำเช่น อุรประเทศ หทัยประเทศ).”

“ก-สกรรถ” จึงหมายถึง อักษร ก ที่ลงข้างท้ายศัพท์ เมื่อลงแล้วศัพท์นั้นมีความหมายเท่าเดิม

ในที่นี้ “ส” (สะ) แปลว่า “ของตน” + ก = สก (สะ-กะ) คงแปลว่า “ของตน” (own) เท่าเดิม

คำว่า “สก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สก- ๑ : (คำวิเศษณ์) ของตน. (ป.; ส. สฺวก).”

(๒) “ปร”

บาลีอ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก ป (แทนศัพท์ หึสา = เบียดเบียน) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ

: ป + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” หมายถึง –

(1) อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (another, other)

(2) ศัตรู, ปรปักษ์ (enemies, opponents)

ในภาษาไทยใช้เป็น “บร-” อ่านว่า บอ-ระ- ก็มี ใช้เป็น “ปร-” เหมือนบาลี (ขีดท้ายคำบ่งว่าใช้นำหน้าคำอื่น ไม่ใช้เดี่ยวๆ) อ่านว่า ปะ-ระ- และ ปอ-ระ- ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) บร- : (คำแบบ; คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำนาม) ฝ่ายอื่น เช่น บรเทศ, ข้าศึก เช่น บรปักษ์. (ป., ส. ปร).

(2) ปร- : (คำวิเศษณ์) อื่น, ใช้เป็นบทหน้าสมาส เช่น ปรปักษ์ ปรโลก. (ป.).

โปรดสังเกตว่า ใช้เป็น “บร-” พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำนาม ใช้เป็น “ปร-” พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำวิเศษณ์ คำที่ยกเป็นตัวอย่างว่าเป็นคำนามคือ บรปักษ์ คำที่ยกเป็นตัวอย่างว่าเป็นคำวิเศษณ์คือ ปรปักษ์ “บรปักษ์” กับ “ปรปักษ์” มีความหมายเหมือนกันหรือต่างกัน พจนานุกรมฯ มีเหตุผลอย่างไร – เหล่านี้ เป็นเรื่องที่น่าศึกษา

(๓) “สมัย”

บาลีเป็น “สมย” อ่านว่า สะ-มะ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = บ่อยๆ, พร้อมกัน) + อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (อิ > เอ > อย), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม)

: สํ > สม + อิ > เอ > อย : สม + อย + ณ = สมยณ > สมย แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ดำเนินไปเรื่อยๆ” (2) “สิ่งเป็นที่-หรือเป็นเหตุเป็นไปพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย”

(2) สม (แทนศัพท์ “สมนฺต” = รอบด้าน) + อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง อิ เป็น ย (อิ > อย)

: สม + อิ > อย = สมย แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นไปโดยรอบด้านแห่งความคิด”

“สมย” (ปุงลิงค์) ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ –

(1) การมาด้วยกัน, การรวมกัน; หมู่ชน, กลุ่มชน (coming together, gathering; a crowd, multitude)

(2) การคบค้าสมาคมกัน, การติดต่อ (consorting with, intercourse)

(3) เวลา, สมัย, ฤดู (time, point of time, season)

(4) เวลาอันบังควร, ฤดูกาล, สมัยหรือโอกาสที่สมควร (proper time, due season, opportunity, occasion)

(5) การประจวบกัน, พฤติการณ์, กาลเทศะ (coincidence, circumstance)

(6) สภาวะ, สถานะ; ขอบข่าย, เขตที่คลุมถึง (condition, state; extent, sphere)

(7) ที่สุด, การลงท้าย, การทำลายล้าง (end, conclusion, annihilation)

(8 ) ทัศนะ, หลักคำสอน (view, doctrine)

ในที่นี้ “สมย” ใช้ในความหมายตามข้อ (8 )

บาลี “สมย” ภาษาไทยใช้เป็น “สมัย” (สะ-ไหฺม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สมัย : (คำนาม) เวลา, คราว, เช่น สมัยโบราณ สมัยกลาง สมัยปัจจุบัน, มักใช้เข้าคู่กับคำ กาล เป็น กาลสมัย. (ป., ส.).”

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ ให้ความหมายคำว่า “สมัย” ในภาษาไทยไว้อย่างเดียว คือ คราว, เวลา (time, point of time, season)

…………..

สก + สมย = สกสมย (สะ-กะ-สะ-มะ-ยะ) นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ลัทธิของตน”

ปร + สมย = ปรสมย (ปะ-ระ-สะ-มะ-ยะ) นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ลัทธิของฝ่ายอื่น”

“สกสมย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สกสมัย” อ่านว่า สะ-กะ-สะ-ไหฺม

“ปรสมย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปรสมัย” อ่านว่า ปะ-ระ-สะ-ไหฺม

ขยายความ :

“สกสมัย” หมายถึงหลักวิชา หลักความรู้ หลักคำสอน เป็นต้น อันเป็นของตัวเอง หรืออันว่าด้วยเรื่องของตัวเอง

ในวงแคบ หมายถึงตัวของแต่ละคน คือความรู้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน มีฐานะอย่างไร มีหน้าที่อย่างไร ควรรู้อะไร ควรทำอะไร เป็นต้น เรียกเป็นหลักธรรมก็ตรงกับ “อัตตัญญุตา” ความรู้จักตัวเอง

ในวงกว้าง หมายถึงสังคมส่วนรวมตลอดจนประเทศชาติบ้านเมืองของตนเอง ก็คือความรู้ว่าประเทศชาติของเรามีความเป็นมาอย่างไร วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของเราเป็นอย่างไร เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ เรื่องของตัวเองทั้งหมด เป็นเรื่องที่ควรรู้และต้องรู้ ถ้าไม่รู้ถือว่าเป็นความบกพร่องอย่างยิ่ง-เรื่องของตัวเองแท้ๆ กลับไม่รู้

“ปรสมัย” มีความหมายตรงกันข้าม คือหมายถึงหลักวิชา หลักความรู้ หลักคำสอน เป็นต้น อันเป็นเรื่องของคนอื่นฝ่ายอื่น

“ปรสมัย” นั้น ถึงไม่รู้ก็ไม่เสียหาย แต่ถ้ารู้ไว้ก็นับเป็นอลังการ ที่พูดกันว่า “ประดับความรู้” ถ้าเป็นไปได้ก็ควรหาโอกาสเรียนรู้ไว้บ้าง แต่ถ้ามีหน้าที่จะต้องเกี่ยวข้องด้วย ก็เป็นเรื่องที่ต้องรู้ ถ้าไม่รู้ถือว่าเป็นความบกพร่องอีกเหมือนกัน

“ปรสมัย” เรียกเป็นหลักธรรมก็ตรงกับ “ปริสัญญุตา” ความรู้จักชุมชน และ “ปุคคลัญญุตา” ความรู้จักบุคคล

“สกสมัย” กับ “ปรสมัย” เป็นคำที่มักกล่าวถึงควบคู่กัน ความหมายสั้นๆ คือ-เรื่องของตัวเอง และ เรื่องของคนอื่น

คำว่า “สกสมัย” และ “ปรสมัย” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ผู้เขียนบาลีวันละคำของฝากไว้ในวงวรรณทั้ง 2 คำ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรื่องคนอื่นชอบดูรู้ไปทั่ว

: เรื่องของตัวไม่รู้ดูบัดสี

: นับดวงดาวทั่วฟ้าปัญญาดี

: ขนตามีกี่เส้นไม่เห็นเลย

#บาลีวันละคำ (3,806)

13-11-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *