บาลีวันละคำ

อนันตะ (บาลีวันละคำ 3,805)

อนันตะ

สิ่งที่ไม่มีที่สุด

อ่านว่า อะ-นัน-ตะ

“อนันตะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อนนฺต” อ่านว่า อะ-นัน-ตะ ประสมขึ้นจากคำว่า น (ไม่, ไม่ใช่) + อนฺต

(๑) “อนฺต” (อัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต (ตะ) ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (อมฺ > อนฺ)

: อมฺ + ต = อมฺต > อนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ถึงที่สุด”

“อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง :

(1) ที่สุด, สำเร็จ, ที่หมาย (end, finish, goal)

(2) เขต, ชาย, ริม (limit, border, edge)

(3) ข้าง (side)

(4) ด้านตรงกันข้าม, ตรงกันข้าม, ตำแหน่งตรงกัน (opposite side, opposite, counterpart)

(๒) น + อนฺต แปลง น เป็น อน ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :

(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ-

(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน-

ในที่นี้ “อนฺต” ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ- จึงต้องแปลง น เป็น อน

: น > อน + อนฺต = อนนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ไม่มีที่สุด” หมายถึง หาที่สุดมิได้, ไม่จบสิ้น, ไม่มีขอบเขต (endless, infinite, boundless)

ตามศัพท์ อนนฺต ไม่ได้แปลว่า “มากล้น” แต่สิ่งใด “ไม่มีที่สุด” สิ่งนั้นย่อมส่อนัยว่า มากมาย มากเหลือล้นนั่นเอง

บาลี “อนนฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อนันต” “อนันต์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อนันต-, อนันต์ : (คำวิเศษณ์) ไม่มีสิ้นสุด, มากล้น, เช่น อนันตคุณ คุณอนันต์. (ป.).”

ขยายความ :

คัมภีร์อัฎฐสาลินีกล่าวไว้ว่า สิ่งที่เป็น “อนันตะ” คือหาที่สุดมิได้ มี 4 อย่าง พร้อมทั้งขยายความไว้ดังนี้ –

(ขอความกรุณาแข็งใจอ่านคำบาลีไปด้วย เพื่อสร้างคุ้นชินให้เป็นอุปนิสัยปัจจัยในอนาคตกาล)

…………..

จตฺตาริ หิ อนนฺตานิ อากาโส อนนฺโต จกฺกวาฬานิ อนนฺตานิ สตฺตนิกาโย อนนฺโต พุทฺธญาณํ อนนฺตํ ฯ

อนันตะมี 4 อย่าง คือ –

(1) อากาโส อนนฺโต = อากาศไม่มีที่สุด

(2) จกฺกวาฬานิ อนนฺตานิ = จักรวาลไม่มีที่สุด

(3) สตฺตนิกาโย อนนฺโต = ชนิดของสัตว์ไม่มีที่สุด

(4) พุทฺธญาณํ อนนฺตํ = พุทธญาณไม่มีที่สุด

อากาสสฺส หิ ปุรตฺถิมทิสาย วา ปจฺฉิมุตฺตรทกฺขิณาสุ วา เอตฺตกานิ วา โยชนสตานิ เอตฺตกานิ วา โยชนสหสฺสานีติ ปริจฺเฉโท นตฺถิ ฯ

อากาศในทิศบูรพา ทิศปัจฉิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ (คือทุกทิศทุกที่) กำหนดนับไม่ได้ว่ามีปริมาณกว้างไกลเท่านี้ร้อยโยชน์หรือเท่านี้พันโยชน์

สิเนรุมตฺตํปิ อโยกูฏํ ปฐวึ ทฺวิธา กตฺวา เหฏฺฐา ขิตฺตํ ภสฺเสเถว โน ปติฏฺฐํ ลเภถ ฯ

(สมมุติว่า) เอาค้อนเหล็กขนาดเท่าขุนเขาสิเนรุทุบแผ่นดินให้แยกเป็นสองซีก แล้วโยนค้อนนั้นลงไป ค้อนเหล็กก็จะลอยลิ่วลงเบื้องล่างเรื่อยไป หาที่จะรองรับไว้มิได้เลย

เอวํ อากาสํ อนนฺตํ นาม ฯ

อากาศชื่อว่าเป็นอนันตะ (คือไม่มีที่สุด) อย่างนี้

จกฺกวาฬานํปิ สเตหิ วา สหสฺเสหิ วา สตสหสฺเสหิ วา ปริจฺเฉโท นตฺถิ ฯ

จักรวาลทั้งหลายกำหนดนับไม่ได้ว่ามีจำนวนกี่ร้อย กี่พัน หรือกี่แสนจักรวาล

สเจปิ หิ อกนิฏฺฐภวเน นิพฺพตฺตา ทฬฺหถามธนุคฺคหสฺส สลฺลหุเกน สเรน ติริยํ ตาลจฺฉายํ อติกฺกมนมตฺเตน กาเลน จกฺกวาฬสตสหสฺสอติกฺกมนสมตฺเถน ชเวน สมนฺนาคตา จตฺตาโร มหาพฺรหฺมาโน

ท้าวมหาพรหมทั้ง 4 ผู้เกิดในอกนิษฐภพ ประกอบด้วยความเร็วสามารถผ่านแสนจักรวาลไปด้วยเวลาเพียงเท่าที่ลูกศรที่เร็วมากของนายขมังธนูผู้มีกำลังแข็งแรงผ่านเงาต้นตาลด้านขวาง (เงาตาลด้านขวางมีความกว้างนิดเดียว ชั่วพริบตาลูกศรก็ผ่านไปแล้ว)

จกฺกวาฬปริยนฺตํ ปสฺสิสฺสามาติ เตน ชเวน ธาเวยฺยุํ ฯ

ถ้าท้าวมหาพรหมพึงโลดแล่นไปโดยความเร็วดังว่านั้น ด้วยหวังว่าจักไปให้เห็นที่สุดจักรวาล

จกฺกวาฬปริยนฺตํ อทิสฺวาว ปรินิพฺพาเยยฺยุํ ฯ

ไม่ทันเห็นที่สุดแห่งจักรวาล ท้าวมหาพรหมเหล่านั้นก็จะพึงดับขันธ์ไปเสียก่อนโดยแท้

เอวํ จกฺกวาฬานิ อนนฺตานิ นาม ฯ

จักรวาลทั้งหลายชื่อว่าเป็นอนันตะอย่างนี้

เอตฺตเกสุ ปน จกฺกวาเฬสุ อุทกฏฺฐกถลฏฺฐกสตฺตานํ ปมาณํ นตฺถิ ฯ

ชนิดของสัตว์ (คือสิ่งมีชีวิตจิตใจ) ที่อยู่ในน้ำและบนบกในจักรวาลทั้งหลายซึ่งไม่มีประมาณดังที่ว่ามานั้น ก็นับประมาณไม่ได้ว่ามีกี่ชนิด

เอวํ สตฺตนิกาโย อนนฺโต นาม ฯ

ชนิดของสัตว์ชื่อว่าเป็นอนันตะอย่างนี้

ตโตปิ พุทฺธญาณํ อนนฺตเมว ฯ

พุทธญาณชื่อว่าเป็นอนันตะยิ่งกว่าอนันตะทั้ง 3 นั้นโดยแท้

อรรถกถาขยายความสรุปได้ว่า เหตุที่พุทธญาณชื่อว่าเป็นอนันตะยิ่งกว่าอนันตะทั้ง 3 ก็เพราะพระสัพพัญญุญาณหนึ่งเดียวสามารถกำหนดจิตของสิ่งมีชีวิตในอนันตจักรวาลได้พร้อมกันทั้งหมด ปานว่าเอาสิ่งของขึ้นชั่งหรือตวงนับได้โดยง่ายฉะนั้น

ที่มา: อัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณี พระอภิธรรมปิฎก หน้า 329-330

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนใจคน ไม่จบ

: แต่เรียนใจตน จบ

#บาลีวันละคำ (3,805)

12-11-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *