คิลานปัจจยเภสัชบริขาร (บาลีวันละคำ 3,821)
อันวเศษ
แปลว่า “หมดหัวใจ”
“อันวเศษ” เขียนแบบบาลีเป็น “อนวเสส” อ่านว่า อะ-นะ-วะ-เส-สะ รากศัพท์มาจาก น + อว + เสส
(๑) “น”
บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
ในที่นี้ “อว” ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ จึงแปลง น เป็น อน
(๒) “อว”
อ่านว่า อะ-วะ เป็นคำอุปสรรค (prefix) แปลว่า –
(1) ต่ำกว่า, ต่ำ (lower, low)
(2) ลง, ลงต่ำไป, ห่างลงไป, ออกไป (down, downward, away down, off)
“อว” แปลง เป็น “โอ” พบได้ทั่วไปในบาลี หรือจะกล่าวก็ได้ว่า อุปสรรคคำนี้มี 2 รูป เป็น “อว” รูปหนึ่ง เป็น “โอ” อีกรูปหนึ่ง
ในที่นี้ “อว” คงรูปเป็น “อว”
(๓) “เสส”
บาลีอ่านว่า เส-สะ รากศัพท์มาจาก สิสฺ (ธาตุ = ประกอบไม่ทั้งหมด, ส่วนเหลือ) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ-(สฺ) เป็น เอ (สิสฺ > เสส)
: สิสฺ + อ = สิส > เสส แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ประกอบไม่ทั้งหมด”
ขยายคำ : สิสฺ ธาตุ ท่านไขความว่า “อสพฺพยุชฺชเน” (อะ-สับ-พะ-ยุด-ชะ-เน) แปลว่า “ใช้ในความหมายว่าประกอบไม่ทั้งหมด” คือเอาสิ่งนั้นไปประกอบกับสิ่งอื่น แต่เอาไปประกอบไม่หมด ส่วนที่ไม่ได้เอาไปประกอบจึงเรียกว่า “เสส” คือ “ส่วนที่เหลือ”
“เสส” ถ้าใช้เป็นคำนาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง ส่วนเหลือ (remainder) ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เศษ, ที่เหลือ (remaining, left)
การประสมคำ :
๑ อว + เสส = อวเสส (อะ-วะ-เส-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “มีส่วนเหลือลง” หมายถึง สิ่งที่ยังเหลืออยู่, ส่วนที่ยังคงอยู่ (remainder, remaining part)
๒ น + อวเสส = นอวเสส > อนวเสส (อะ-นะ-วะ-เส-สะ) แปลว่า “มีส่วนเหลือลงอยู่หามิได้” หมายถึง ไม่มีอะไรเหลืออยู่ (without any remainder) ถ้าเป็นการกระทำ ก็คือทำอย่างสุดหัวใจ ทำเต็มที่ (fully, completely)
“อนวเสส” เขียนแบบไทยขั้นแรกเป็น “อนวเศษ” อ่านว่า อะ-นะ-วะ-เสด
เนื่องจากคำพยางค์สั้นเรียงกัน 3 คำ คือ อะ-นะ-วะ- ชวนให้ออกเสียงตะกุกตะกัก เพื่อความราบรื่นในการออกเสียง จึงปรับรูปคำเป็น “อันวเศษ” อ่านว่า อัน-วะ-เสด (กรุณาอย่าเข้าใจผิดว่าเป็น “อันวิเศษ”)
ขยายความ :
“อันวเศษ” หมายถึง ทำอะไรทำจนหมดสิ้นไม่เหลือเศษ ยกตัวอย่าง-การให้-ให้ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เช่น ตักข้าวใส่บาตรก็ใส่จนหมดขันหมดชาม ไม่ขยักไว้ มีเงินติดตัวอยู่ 100 บาท บริจาคหมดทั้ง 100 ไม่เหลือติดกระเป๋าเลย อย่างนี้พูดเป็นคำบาลีว่า อนวเสเสเนว (อะ-นะ-วะ-เส-เส-เน-วะ) แปลว่า “โดยไม่มีส่วนเหลือนั่นเทียว” พูดเป็นคำไทยว่า “ทำอย่างอันวเศษ”
คนที่ทำอย่างนี้ได้ต้องใจเด็ดและกล้าสู้กับปัญหาที่อาจจะเกิดตามมา เช่นบริจาคเงินจนหมดกระเป๋า ไม่มีค่ารถกลับบ้านจะแก้ปัญหาอย่างไร ทำแล้วตัวเองเดือดร้อนก็ผิดหลักธรรม เพราะฉะนั้น นอกจากใจเด็ดแล้วก็ต้องฉลาดรอบคอบด้วย
“อันวเศษ” ยังไม่มีใช้ในภาษาไทย ขอเสนอไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง
เห็นใครทำอะไรทุ่มสุดตัว ทำสุดใจขาดดิ้น ก็พูดได้ว่า-ทำอย่างอันวเศษ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าจะรัก รักหมดหัวใจ
: แต่ถ้าจะเกลียดใคร เกลียดแค่ครึ่งเดียว
#บาลีวันละคำ (3,821)
28-11-65
…………………………….
……………………………