บาลีวันละคำ

เอกลาภ (บาลีวันละคำ 3,822)

เอกลาภ

คือลาภเช่นไร

อ่านว่า เอก-กะ-ลาบ

ประกอบด้วยคำว่า เอก + ลาภ

(๑) “เอก”

บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก

: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”

“เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ :

(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”

(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

“เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“เอก, เอก- : (คำวิเศษณ์) หนึ่ง (จำนวน); ชั้นที่ ๑ (ใช้เกี่ยวกับลำดับชั้น หรือขั้นของยศ ตำแหน่ง คุณภาพ หรือวิทยฐานะ สูงกว่า โท) เช่น ร้อยเอก ข้าราชการชั้นเอก ปริญญาเอก; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้ ‘่’ ว่า ไม้เอก; ดีเลิศ เช่น กวีเอก, สำคัญ เช่น ตัวเอก; (คำโบราณ) (คำนาม) เรียกลูกหญิงคนที่ ๗ ว่า ลูกเอก, คู่กับลูกชายคนที่ ๗ ว่า ลูกเจ็ด. (คำที่ใช้ในกฎหมาย). (ป., ส.).”

(๒) “ลาภ”

ภาษาไทยอ่านว่า ลาบ ภาษาบาลีอ่านว่า ลา-พะ รากศัพท์มาจาก ลภฺ (ธาตุ = ได้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ล-(ภฺ) เป็น อา (ลภฺ > ลาภ)

: ลภฺ + ณ = ลภณ > ลภ > ลาภ แปลตามศัพท์ว่า “การได้” “สิ่งอันเขาได้” เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า “ลาภ”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ลาภ” ว่า receiving, getting, acquisition, gain, possession (การรับ, การได้, การได้มา, กำไร, สิ่งที่ได้มา, สมบัติ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

“ลาภ : (คำนาม) สิ่งที่มักจะได้มาโดยไม่คาดคิด. (ป., ส. ลาภ ว่า ของที่ได้, การได้, กําไร).”

เอก + ลาภ = เอกลาภ (เอก-กะ-ลาบ) แปลตามศัพท์ว่า “ลาภอย่างเอก” “ลาภอย่างเดียวกัน”

ขยายความ :

คำว่า “เอกลาภ” ที่พบในคัมภีร์บาลี แปลว่า “ลาภอย่างเดียวกัน” หมายถึง ได้อะไรก็ได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งได้ แต่อีกคนหนึ่งอด

วัดหนึ่งอาหารการขบฉันอุดมสมบูรณ์ แต่อีกวัดหนึ่งอาหารการขบฉันขาดแคลนฝืดเคือง วัด 2 วัดนี้เรียกว่าไม่เป็น “เอกลาภ”

ยังมี “เอกลาภ” อีกความหมายหนึ่ง เป็นคำที่พูดเพี้ยนเขียนผิดมาจากคำว่า “อดิเรกลาภ” (อะ-ดิ-เหฺรก-กะ-ลาบ)

คือ “อดิเรกลาภ” นั่นเอง แต่พูดเพี้ยนไปเป็น “เอกลาภ” โดยมากเกิดจากคนรุ่นเก่าที่ถ่ายทอดความรู้จากปากสู่หู หรือที่เรียกว่า “มุขปาฐะ”

ผู้ถ่ายทอดพูดว่า อะ-ดิ-เหฺรก-กะ-ลาบ

ผู้รับถ่ายทอดได้ยินเป็น เอก-กะ-ลาบ

หรือได้ยินเป็น อะ-ดิ-เหฺรก-กะ-ลาบ นั่นแหละ แต่เวลาเอาไปพูดเองพูดเพี้ยน หรือพูดเร็ว พูดรัว ออกเสียงเป็น เอก-กะ-ลาบ ครั้นเวลาเขียนเป็นตัวอักษร ก็เลยพลอยเขียนผิดเป็น “เอกลาภ” ไปด้วย แต่แม้กระนั้นก็ยังเข้าใจตรงกันอยู่ คือเข้าใจว่า “เอกลาภ” ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “อดิเรกลาภ” นั่นเอง

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “อดิเรกลาภ” ถ้าใช้สำนวนตามคำนิยามในพจนานุกรมก็จะบอกว่า “เอกลาภ ก็ว่า” นั่นเอง

จึงควรถือเป็นโอกาสหาความรู้เรื่อง “อดิเรกลาภ” ซึ่งเพี้ยนเป็น “เอกลาภ” ต่อไป

ในหลักพระธรรมวินัย “อดิเรกลาภ” หมายถึง ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้บริโภคใช้สอยได้เพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้เดิม กล่าวคือ :

(๑) ปิณฑิยาโลปโภชนะ : โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต

ภัตตาหารที่เป็นอดิเรกลาภ คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ์ ภัตถวายในวันปาฏิบท

หมายความว่าถ้ามีภัตเหล่านี้เกิดขึ้น จะไม่ต้องไปบิณฑบาตก็ได้

(๒) บังสุกุลจีวร : ผ้านุ่งห่มทำจากผ้าที่เขาทิ้งแล้ว

ผ้าที่เป็นอติเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน. (เช่นผ้าด้ายแกมไหม)

หมายความว่าถ้ามีผู้ถวายผ้าเหล่านี้ จะใช้สอยก็ได้

(๓) รุกขมูลเสนาสนะ : ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้

ที่อยู่อาศัยที่เป็นอดิเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ

หมายความว่าถ้าได้ที่อยู่เช่นนี้ หรือมีผู้ทำที่อยู่เช่นนี้ถวาย จะอาศัยอยู่ก็ได้

(๔) ปูติมุตตเภสัช : ยาน้ำมูตรเน่า

เภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย

หมายความว่าถ้ามีผู้ถวายเภสัชเหล่านี้ จะบริโภคก็ได้

จะเห็นได้ว่า แม้จะกำหนดปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตเพื่อความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย แต่ก็มิได้จำกัดตัดสิทธิ์ที่จะบริโภคใช้สอยสิ่งของที่เป็น “อดิเรกลาภ” เพียงแต่จำกัดว่าต้องเป็นของที่ “สมควรแก่สมณบริโภค”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คิดแต่จะเอา หิวตลอดไป

: คิดแต่จะให้ อิ่มตลอดกาล

#บาลีวันละคำ (3,822)

29-11-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *