บาลีวันละคำ

โกฏิ โกฐ โกศ (บาลีวันละคำ 4,209)

โกฏิกฐ โกศ

โปรดอย่าสะกดตามใจ เพราะความหมายไม่เหมือนกัน

อ่านว่า โกด เหมือนกันทั้ง 3 คำนี้ แต่ความหมายไม่เหมือนกัน เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์ไทยเรียกว่า “คำพ้องเสียง” คืออ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่สะกดต่างกัน คู่กับ “คำพ้องรูป” คือรูปคำหรือสะกดเหมือนกัน แต่อ่านต่างกัน ความหมายก็ต่างกันด้วย

(๑) “โกฏิ” 

บาลีอ่านว่า โก-ติ รากศัพท์มาจาก กุฏฺ (ธาตุ = คด, งอ, โค้ง; ตัด) +อิณ ปัจจัย หรือ ณิ ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ กุ-(ฏฺ) เป็น โอ (กุฏฺ > โกฏ)

: กุฏฺ + อิณ = กุฏิณ > กุฏิ > โกฏิ 

: กุฏฺ + ณิ = กุฏณิ > กุฏิ > โกฏิ 

โกฏิ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนที่คด” (2) “การนับที่ตัดการคูณด้วยสิบ” (คือเมื่อนับถึง “โกฏิ” แล้ว ก็ตัดจำนวนที่จะนับต่อไป กล่าวคือสูงสุดแค่ “โกฏิ” เท่านั้น) 

คำแปลกลาง ๆ ของ “โกฏิ” คือ ที่สุด (the end) แต่เมื่อใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน ความหมายอาจแตกต่างกันไป กล่าวคือ:

(ก) ใช้เกี่ยวกับระยะทาง (of space) “โกฏิ” หมายถึง ส่วนปลายสุด, ยอด, ปลายแหลม (the extreme part, top, summit, point)

(ข) ใช้เกี่ยวกับเวลา (of time) “โกฏิ” หมายถึง การแบ่งเวลา, เป็นอดีตหรืออนาคต (a division of time, with reference either to the past or the future)

(ค) ใช้เกี่ยวกับจำนวน (of number) “โกฏิ” หมายถึง “ที่สุด” ของเครื่องวัด, คือ สูงสุด เช่นสังขยาที่ใช้แทนจำนวนประมาณ 100,000 (the “end” of the scale, i. e. extremely high, as numeral representing approximately the figure a hundred thousand) ความหมายนี้ก็คือที่เราพูดกันเช่น มีเงินตั้งหลายโกฏิ คือมีเงินมากที่สุด

ในที่นี้ “โกฏิ” มีความหมายตามข้อ (ค) 

บาลี “โกฏิ” สันสกฤตก็เป็น “โกฏิ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โกฏิ : (คำนาม) ปลายกระบี่; ปลายคันธนู; จำนวนสิบล้าน; อุจจสถาน, อุจจภูภาค (ความตั้งอยู่เหนือตำแหน่งสูง), ความประเสริฐ; ด้านตั้งแห่งตริโกณ; โกฏิแห่งอนุส ๙๐ องศา; the point of a sword; the end of a bow; the number ten millions; eminence, excellence; the upright side of a triangle; the compliment of an arc of 90 degrees.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

โกฏิ : (คำนาม) ชื่อมาตรานับ เท่ากับ ๑๐ ล้าน.”

(๒) “โกฐ” 

บาลีเป็น “โกฏฺฐ” อ่านว่า โกด-ถะ รากศัพท์มาจาก กุสฺ ธาตุ = ด่า; เต็ม) + ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ กุ-(สฺ) เป็น โอ (กุสฺ > โกส), แปลง เป็น , แปลง เป็น  

: กุสฺ + = กุสต > โกสต > โกฏฺต > โกฏฺฐ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะอันคนด่า” (คือถูกบ่นถูกด่าเมื่อเกิดปวดขึ้น) (2) “ที่พึงให้เต็มด้วยข้าวเปลือก” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายตามศัพท์ว่า anything hollow and closed (สิ่งที่กลวงและปิด)

โกฏฺฐ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ท้องหรือท้องน้อย (the stomach or abdomen) 

(2) ห้องเล็ก, กุฏิพระ, ห้องเก็บสัมภาระ (a closet, a monk’s cell, a storeroom) 

บาลี “โกฏฺฐ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “โกฐ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

โกฐ : (คำนาม) ชื่อเครื่องยาสมุนไพรจำพวกหนึ่ง ได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช มีหลายชนิด คือ โกฐทั้ง ๕ ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา, โกฐทั้ง ๗ เพิ่ม โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว, โกฐทั้ง ๙ เพิ่ม โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี, และมีโกฐพิเศษอีก ๓ ชนิด คือ โกฐกักกรา โกฐกะกลิ้ง และโกฐนํ้าเต้า, ตํารายาแผนโบราณเขียนเป็น โกฎ โกฏ โกฏฐ์ โกด หรือ โกษฐ์ ก็มี. (ป. โกฏฐ).”

ข้อสังเกต : “โกฐ” คำนี้ พจนานุกรมฯ บอกว่าบาลีเป็น “โกฏฺฐ” แต่เมื่อดูความหมายในบาลีกับความหมายที่ใช้ในภาษาไทยแล้วจะเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง 

ผู้เขียนบาลีวันละคำยังระลึกไม่ได้ว่า มีคำบาลีที่สะกดเป็น “โกฏฺฐ” และหมายถึง “เครื่องยาสมุนไพร” อยู่ในคัมภีร์อะไรบ้าง ก็คงต้องศึกษาสืบค้นกันต่อไป

(๓) “โกศ

บาลีเป็น “โกส” อ่านว่า โก-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) กุ (ศัสตราวุธ) + สิ (ธาตุ = อยู่, ผูก, มัด) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ กุ เป็น โอ (กุ > โก), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > )

: กุ + สิ = กุสิ + = กุสิ > โกสิ > โกส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่อยู่แห่งศัสตรา” (2) “ที่เป็นที่ผูกศัสตราไว้

(2) กุสฺ (ธาตุ = ตัด) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ กุ-(สฺ) เป็น โอ (กุสฺ >โกส)

: กุสฺ + = กุสณ > กุส > โกส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนที่พึงขลิบออก” (2) “ส่วนที่ควรตัด” (คือควรแบ่งกัน)

ความหมายเดิมของ “โกส” คือ โพรง, ช่องหรือกล่อง, ที่ล้อมซึ่งมีอะไรก็ตามอยู่ภายใน (any cavity or enclosure containing anything)

ความหมายที่คลี่คลายมาจนลงตัวแล้ว คือ:

(1) ห้องเก็บของหรือคลังพัสดุ, คลังหรือฉาง (a store-room or storehouse, treasury or granary)

(2) ฝักมีด (a sheath)

(3) ภาชนะหรือชามข้าว (a vessel or bowl for food)

(4) รังไหมรอบตัวดักแด้ (a cocoon)

(5) หนังหุ้มอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (หนังหุ้มปลาย) (the membranous cover of the male sexual organ, the praeputium)

โกส” ในสันสกฤตเป็น “โกษ” และ “โกศ

ในภาษาไทย “โกศ” มีความหมายตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โกศ ๑ : (คำนาม) สิ่งที่ทำขึ้นสำหรับประกอบนอกพระลองหรือลองที่ใส่พระบรมศพ พระศพ หรือศพ รูปทรงกระบอก ก้นสอบ ปากผาย มีฐาน และมีฝาครอบเป็นเครื่องยอด มีลักษณะแตกต่างกันไปตามอิสริยยศ, ที่ใส่พระบรมอัฐิ พระอัฐิ หรืออัฐิ มีขนาดต่างๆ ฝาครอบมียอด, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระโกศ; คลัง. (ส.).”

…………..

โกฏิ” “โกฐ” “โกศ” อ่านเหมือนกัน สะกดต่างกัน ความหมายก็ต่างกัน จะใช้คำไหนในความหมายไหน โปรดสะกดให้ตรงกับคำนั้น 

ถ้าสะกดตามใจชอบ แล้วอ้างว่าภาษาเป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีถูกไม่มีผิด ภาษาก็วิปริตทันที

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนคำถึงจะลำบาก

: แต่ไม่ยากเท่ากับเรียนคน

#บาลีวันละคำ (4,209)

21-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *