บาลีวันละคำ

สารมัณฑกัป (บาลีวันละคำ 4,183)

สารมัณฑกัป

กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 4 พระองค์

…………..

กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติแยกย่อยเป็น 5 ประเภท ได้แก่ –

(1) สารกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติพระองค์เดียว

(2) มัณฑกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 2 พระองค์

(3) วรกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 3 พระองค์

(4) สารมัณฑกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 4 พระองค์

(5) ภัทรกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 5 พระองค์

…………..

สารมัณฑกัป” อ่านว่า สา-ระ-มัน-ดะ-กับ ประกอบด้วยคำว่า สาร + มัณฑ + กัป

(๑) “สาร” 

อ่านว่า สา-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) สรฺ (ธาตุ = ขยาย, พิสดาร) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (สรฺ > สาร)

: สรฺ + = สรณ > สร > สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายออก

(2) สา (ธาตุ = มีกำลัง, สามารถ) + ปัจจัย

: สา + = สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีกำลัง

สาร” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สำคัญ, ประเสริฐยิ่ง, แข็งแรง (essential, most excellent, strong)

(2) ชั้นในที่สุด และส่วนที่แข็งที่สุดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, แก่นหรือแกนของไม้ (the innermost, hardest part of anything, the heart or pith of a tree)

(3) แก่นสาร, ส่วนสำคัญ, ส่วนที่ดีที่สุด (substance, essence, choicest part)

(4) คุณค่า (value)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สาระ” ซึ่งมีความหมายตรงกับ “สาร” ในที่นี้ บอกไว้ดังนี้ –

สาระ : (คำนาม) ส่วนสำคัญ, ข้อใหญ่ใจความ, เช่น เขียนมายืดยาวแต่มีสาระน้อย ทำดีย่อมได้ดีเป็นสาระสำคัญของเรื่องนี้; ประโยชน์ เช่น เรื่องไม่เป็นสาระ ไร้สาระ.”

(๒) “มัณฑ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “มณฺฑ” อ่านตามเสียงบาลีว่า มัน-ดะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มณฺฑฺ (ธาตุ = ประดับ) + (อะ) ปัจจัย)

: มณฺฑฺ + = มณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เป็นเครื่องประดับ

มีรูปวิเคราะห์ (กระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ดังนี้

– มณุฑติ อเนนาติ มณุโฑ = เขาย่อมประดับด้วยส่วนนี้ เหตุนั้น ส่วนนี้จึงชื่อว่า “มณฺโฑ” (ส่วนที่เป็นเครื่องประดับ)

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง นฺ เป็น

: มนฺ + = มนฺฑ > มณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนเป็นเหตุให้รู้

มีรูปวิเคราะห์ ดังนี้

– มนติ เอเตนาติ มณุโฑ = เขาย่อมรู้ด้วยส่วนนี้ เหตุนั้น ส่วนนี้จึงชื่อว่า “มณฺโฑ” (ส่วนเป็นเหตุให้รู้)

มณฺฑ” ตามรากศัพท์นี้หมายถึง ส่วนยอด, สาระสำคัญ, หัวกะทิ, ส่วนบนของนมหรือเนย

(3) มํ (แทนศัพท์ว่า “รตุตนฺธการ” = ความมืดในราตรี) + ฑิ (ธาตุ = กำจัด) (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น (มํ > มณฺ), ลบสระที่สุดธาตุ (ฑิ > )

: มํ + ฑิ = มํฑิ > มณฺฑิ > มณฺฑ + = มณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กำจัดความมืด

มีรูปวิเคราะห์ ดังนี้

– มํ รตุตนฺธการํ เฑติ วินาเสตีติ มณุโฑ = เขาย่อมกำจัด คือทำความมืดให้หายไป เหตุนั้น จึงชื่อว่า “มณฺโฑ” (ผู้กำจัดความมืด)

มณฺฑ” ตามรากศัพท์นี้หมายถึง แสงแดด, สิ่งที่ผ่องใส

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “มณฺฑ” ในบาลีไว้ดังนี้ –

(1) ความหมายปกติ: the top part, best part of milk or butter, etc. i. e. cream, scum (ส่วนบน, ส่วนที่ดีที่สุดของนมหรือเนย, ฯลฯ คือ หัวนม, นมที่ลอยอยู่เป็นฝา)

(2) ความหมายเชิงอุปมา: essence of, the pick of, finest part of anything (หัวกะทิ, ส่วนที่เลือกไว้ (ล้วนแต่ดีๆ), ส่วนที่ดีที่สุด)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “มณฺฑ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

มณฺฑ : (คำนาม) ‘มัณฑ, มณฑ์,’ ฟอง; สาระ; ศีร์ษะ; เครื่องประดับ; ต้นละหุ่ง; froth or scum; pith or essence; the head; ornament or decoration; the castor-oil plant.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มณฑ์” และ “มัณฑ-” ไว้ บอกไว้ว่า – 

(1) มณฑ์ : (คำนาม) ของมัน ๆ; นํ้าเมา, สุรา. (ป.; ส. มณฺฑา).

(2) มัณฑ– : (คำนาม) มณฑ์, ของที่เป็นมัน; นํ้าเมา, สุรา. (ป.; ส. มณฺฑา).

(๓) “กัป

อ่านว่า กับ บาลีเป็น “กปฺป” อ่านว่า กับ-ปะ รากศัพท์มาจาก กปฺป (ธาตุ = กำหนด) + (อะ) ปัจจัย

: กปฺป + = กปฺป แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น

กปฺป” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

(2) บังเหียน, เครื่องประกอบ, จุดสีดำเล็กๆ, ทำเลศนัย (harness, trapping, a small black dot, a making-up of a trick)

(3) คำสั่ง, คำสั่งสอน, กฎ, ข้อปฏิบัติ, มรรยาท (ordinance, precept, rule; practice, manner)

(4) เวลาที่แน่นอน, เวลาที่กำหนดไว้, อายุของโลก (a fixed time, an age of the world)

บาลี “กปฺป” ในที่นี้ภาษาไทยใช้เป็น “กัป” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กัป : (คำนาม) อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์มาล้างโลก, บางทีใช้เข้าคู่กับคํา กัลป์ เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ป. กปฺป; ส. กลฺป). (ดู กัลป-, กัลป์).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายเรื่อง “กัป” ไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

กัป, กัลป์ : กาลกำหนด, กำหนดอายุของโลก, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาล ประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่า เปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของมนุษย์หรือสัตว์จำพวกนั้นๆ ในยุคนั้นๆ เรียกเต็มว่า ‘อายุกัป’ เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี

…………..

การประสมคำ :

สาร + มณฺฑ = สารมณฺฑ (สา-ระ-มัน-ดะ) แปลว่า “มีสาระยอดเยี่ยม” หรือ “ยอดเยี่ยมด้วยสาระ” 

สารมณฺฑ + กปฺป = สารมณฺฑกปฺป (สา-ระ-มัน-ดะ-กับ-ปะ) แปลว่า “กัปที่มีสาระยอดเยี่ยม” หรือ “กัปที่ยอดเยี่ยมด้วยสาระ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สารมัณฑกัป” (สา-ระ-มัน-ดะ-กับ)

ขยายความ :

เหตุที่เรียก “สารมัณฑกัป” มีอธิบายว่า เมื่อโลกเข้าสู่อสุญกัป คือมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ เริ่มด้วยมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพียงพระองค์เดียว เรียกกัปนั้นว่า “สารกัป” แล้ว กัปต่อ ๆ มามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพิ่มขึ้นจนถึง 4 พระองค์ เมื่อเทียบกับกัปที่ผ่านมาก็นับว่ายอดเยี่ยมยิ่งขึ้นไป จึงเรียกกัปนี้ว่า “สารมัณฑกัป” หมายความว่า จากเดิมเป็นกัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็กลับมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ( = สาร) แล้วพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ก็ยังทวีเพิ่มขึ้นอีกเล่า ( = มัณฑ) ดังว่าสารกัปและมัณฑกัปมาผนวกเข้าด้วยกันนั่นแล จึงเป็น “สารมัณฑกัป” 

กัปที่เรียกว่า “สารมัณฑกัป” กำหนดด้วยจำนวนพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้มี 4 พระองค์ นับพระทีปังกรเป็นองค์ที่ 1 มี “สารมัณฑกัป” มาแล้ว 1 ครั้ง พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ในสารมัณฑกัปมีดังนี้ –

(1) พระมังคละ (องค์ที่ 3)

(2) พระสุมนะ (องค์ที่ 4)

(3) พระเรวตะ (องค์ที่ 5)

(4) พระโสภิตะ (องค์ที่ 6)

หมายเหตุ: คัมภีร์บางฉบับแสดงไว้ว่า ในอสุญกัปคือกัปที่เริ่มมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แล้วจนถึงพระองค์ปัจจุบันคือพระโคตมะ รวม 28 พระองค์ (อัฏฐะวีสะติ นายะกา) กล่าวคือ ในกัปที่พระทีปังกรตรัสรู้นั้น มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก่อนแล้ว 3 พระองค์ คือ –

1 พระตัณหังกร

2 พระเมธังกร

3 พระสรณังกร

รวมพระทีปังกรเป็นพระองค์ที่ 4

ถ้าถือตามนี้ก็แปลว่า ในกัปที่พระทีปังกรมาตรัสรู้นั้นถือว่าเป็นกัปเริ่มแรก และต้องเรียกว่า “สารมัณฑกัป” เพราะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 4 พระองค์ตามที่กำหนดเป็นชื่อกัป ดังนั้น ก็ต้องนับว่า “สารมัณฑกัป” มีมาแล้ว 2 ครั้ง กล่าวคือ 

ครั้งที่ 1 มีพระตัณหังกร พระเมธังกร พระสรณังกร พระทีปังกร 

ครั้งที่ 2 มีพระมังคละ พระสุมนะ พระเรวตะ พระโสภิตะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: น่าสุข ที่ได้พบศาสนาของพระพุทธเจ้า

: น่าเศร้า ที่ไม่เอาคำสอนมาประพฤติปฏิบัติ

#บาลีวันละคำ (4,183)

25-11-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *