บาลีวันละคำ

พระราชกุศล (บาลีวันละคำ 533)

พระราชกุศล

(บาลีไทย)

อ่านว่า พระ-ราด-ชะ-กุ-สน

คำหลักคือ “กุศล” บาลีเป็น “กุสล” อ่านว่า กุ-สะ-ละ

กุสล” แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่เกี่ยวตัดสลัดทิ้งสิ่งเลวร้ายอันน่ารังเกียจ” “ความรู้ที่ทำความชั่วร้ายให้เบาบาง” “ธรรมที่ตัดความชั่วอันเป็นดุจหญ้าคา” หมายถึง ความดีงาม, กรรมดี, สิ่งที่ดี, กุศลกรรม, บุญ (ฝรั่งแปลว่า good thing, good deeds, virtue, merit, good consciousness)

ถ้าเป็นคุณศัพท์มีความหมายว่า ฉลาด, เฉียบแหลม, สันทัด, ชำนาญ; ดีงาม, ถูกต้อง, เป็นกุศล (clever, skilful, expert; good, right, meritorious)

พระราช” เป็นคำบาลีที่ใช้อย่างไทย ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า “เป็นของพระเจ้าแผ่นดินหรือเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน” เช่น พระราชวัง, พระราชศรัทธา

พระราชกุศล” จึงหมายถึง บุญกุศลของพระเจ้าแผ่นดิน, บุญกุศลที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญ

การใช้คำ “พระราชกุศล” มีหลักดังนี้ –

1. ถ้าพระเจ้าแผ่นทรงทำบุญเอง (คำสามัญว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าภาพ จะเสด็จฯ เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อื่นปฏิบัติแทนก็ตาม) เรียกว่า “ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล” เช่น ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวารพระราชทานพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

2. ถ้าผู้อื่นทำบุญแล้วอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่า “ถวายพระราชกุศล” เช่น พุทธบริษัทชวนกันปฏิบัติธรรมถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

3. ถ้าเป็นงานบุญของพระเจ้าแผ่นดิน และมีช่องทางที่ผู้อื่นจะร่วมบุญนั้นได้ด้วย เช่น การบริจาคเงินในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน เรียกว่า “โดยเสด็จพระราชกุศล

: รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

หลีกเลี่ยงภาษาวิบัติ จะเป็นมหากุศล

31-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย