บาลีวันละคำ

วิเวก (บาลีวันละคำ 534)

วิเวก

อ่านว่า วิ-เวก

บาลีอ่านว่า วิ-เว-กะ

รากศัพท์คือ วิ (= วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + วิจ (ธาตุ = สงัด) + ปัจจัย แผลง วิ ที่พยางค์แรกของธาตุเป็น เว แปลง เป็น

: วิ + วิจ > เวจ > เวก = วิเวก

วิเวก” แปลตามศัพท์ว่า “ความสงัดอย่างวิเศษ” หมายถึง ความโดดเดี่ยว, การแยกออก, การอยู่โดดเดี่ยว, ความรู้สึกสงบปลอดการรบกวน, ความรู้สึกเดียวดาย (ฝรั่งแปลว่า detachment, loneliness, separation, seclusion; singleness of heart, discrimination of thought)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

วิเวก : เงียบสงัดทำให้รู้สึกเปล่าเปลี่ยวใจ, เงียบสงัดทำให้รู้สึกวังเวงใจ, เช่น อยู่ในวิเวก รู้สึกวิเวกวังเวงใจ”

วิเวกที่ท่านแสดงไว้เป็นหลักมี 3 ลักษณะ คือ –

1. กายวิเวก (กา-ยะ-) = ความสงัดกาย อยู่ในที่สงัด ควบคุมอิริยาบถให้สงบ อยู่คนเดียวไม่คลุกคลีกับใคร (ข้อนี้คือที่เราเรียกกันว่า “ปลีกวิเวก”)

2. จิตวิเวก (จิต-ตะ-) = ความสงัดใจ ทำจิตให้สงบผ่องใส ไม่อึดอัดขัดข้อง วอกแวกวุ่นวาย (ขั้นสูงหมายเอาจิตของท่านผู้บรรลุฌาน และจิตของพระอริยบุคคล)

3. อุปธิวิเวก (อุ-ปะ-ธิ-) = ความสงัดจากกิเลส ลด ละ เลิกโลภ โกรธ หลงทั้งปวง (ขั้นสูงหมายเอาความสงัดอันเกิดจากการบรรลุพระนิพพาน)

วิเวกเทียม :

อยู่ป่าก็ร้อนเร่า กิเลสเผาใจกระเจิง

วิเวกแท้ :

อยู่ที่ร้อนก็สำราญ ดั่งบัวบานกลางเพลิง

——————

(คำถามของ Ra-work Jal)

1-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย