บาลีวันละคำ

ปรินิพพาน (บาลีวันละคำ 532)

ปรินิพพาน

อ่านว่า ปะ-ริ-นิบ-พาน

บาลีเขียน “ปรินิพฺพาน” (มีจุดใต้ พฺ ตัวแรก) อ่านว่า ปะ-ริ-นิบ-พา-นะ

ประกอบด้วย ปริ + นิพฺพาน

ปริ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า รอบ, เวียนรอบ, ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด

นิพฺพาน” แปลตามศัพท์ว่า –

1- “สภาวธรรมที่ออกพ้นจากเครื่องร้อยรัด”

2- “สภาวธรรมเป็นเหตุดับไปแห่งไฟราคะเป็นต้น”

3- “สภาวธรรมเป็นที่ไม่มีตัณหา”

4- “สภาวธรรมที่เมื่อบุคคลได้บรรลุแล้วย่อมไม่มีตัณหา”

ปริ + นิพฺพาน = ปรินิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “ดับรอบ” คือ ดับสนิท ดับหมดสิ้น

ในภาษาไทย พจน.42 บอกความหมายของ “ปรินิพพาน” ว่า “การดับรอบ, การดับสนิท, การดับโดยไม่เหลือ; เรียกอาการตายของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์”

ในคัมภีร์กล่าวถึง “ปรินิพพาน” ของพระพุทธเจ้า ว่ามี 3 อย่าง คือ –

1 กิเลสปรินิพพาน (กิ-เล-สะ-) = การดับรอบแห่งกิเลส ได้มีแล้วที่โพธิบัลลังก์ในวันที่ตรัสรู้ คือดับกิเลสแต่ยังทรงพระชนม์อยู่

2 ขันธปรินิพพาน (ขัน-ธะ-) การดับรอบแห่งขันธ์ ได้มีแล้วที่เมืองกุสินารา คือที่เราเรียกว่า “เสด็จดับขันธปรินิพพาน” ภาษาธรรมดาที่เข้าใจกันคือ พระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์

3 ธาตุปรินิพพาน (ธา-ตุ-) การดับรอบแห่งพระธาตุ จักมีในอนาคต คือพระบรมสารีริกธาตุทั่วสกลจักรวาลจะไปรวมกัน ณ โพธิมณฑลที่ตรัสรู้ แล้วเกิดเตโชธาตุขึ้นทำลายสูญสิ้นไป เป็นอันว่าพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้สิ้นสุดลง

พุทธภาษิต :

ปรินิพฺพนฺติ  อนาสวา

หมดเครื่องหมักหมมในดวงจิต

ทุกข์ก็ดับสนิท-ปรินิพพาน

30-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย