บาลีวันละคำ

สงฺฆสฺส ทานานิ (บาลีวันละคำ 3,832)

สงฺฆสฺส ทานานิ

ไม่ใช่ “สงฺฆทานานิ”

“สงฺฆสฺส ทานานิ” เป็นคำบาลี อ่านว่า สัง-คัด-สะ ทา-นา-นิ เป็นคำบาลีแยกกัน 2 คำ คือ “สงฺฆสฺส” คำหนึ่ง “ทานานิ” คำหนึ่ง

(๑) “สงฺฆสฺส”

รูปคำเดิมเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น ฆ

: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ + อ = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

“สงฺฆ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สงฺฆสฺส” แปลว่า “แก่สงฆ์” “เพื่อสงฆ์” “ต่อสงฆ์”

(๒) “ทานานิ”

รูปคำเดิมเป็น “ทาน” อ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทา + ยุ > อน = ทาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้”

“ทาน” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

“ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

“ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป;

ทาน 2 คือ

1. อามิสทาน ให้สิ่งของ

2. ธรรมทาน ให้ธรรม;

ทาน 2 อีกหมวดหนึ่ง คือ

1. สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ หรือให้เพื่อส่วนรวม

2. ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ”

“ทาน” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) และวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) พหุวจนะ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ทานานิ” แปลว่า “อันว่าทานทั้งหลาย” หรือ “ซึ่งทานทั้งหลาย” “สู่ทานทั้งหลาย” “ยังทานทั้งหลาย” “สิ้นทานทั้งหลาย” (จะแปลคำไหนขึ้นอยู่กับบริบท)

ขยายความ :

“สงฺฆสฺส” กับ “ทานานิ” มารวมอยู่ในข้อความเดียวกันเป็น “สงฺฆสฺส ทานานิ” ยังคงเป็น 2 ศัพท์เหมือนเดิม ไม่ใช่ศัพท์เดียวกันเหมือนคำว่า “สงฺฆทาน” ที่แจกวิภัตติเป็น “สงฺฆทานานิ” และมีผู้เอาไปใช้ในคำถวายสังฆทานเขียนแบบไทยเป็น “สังฆะทานานิ” และแปลกันว่า “(ขอน้อมถวาย) ซึ่งสังฆทาน”

“สงฺฆสฺส ทานานิ” มักมีคำกริยาที่แปลว่า “ถวาย” อยู่ในประโยคด้วย และแปลว่า “ถวาย ทาน แก่สงฆ์”

กรณีเช่นนี้ “ทานานิ” หมายถึง “สิ่งของที่พึงให้” ใช้กับสงฆ์ว่า “สิ่งของที่พึงถวาย” จะเป็นสิ่งของอะไรก็ได้ที่สมควรแก่สมณบริโภค

เมื่อเป็น “สิ่งของอะไรก็ได้” สิ่งของนั้นก็ย่อมสามารถให้แก่ใครก็ได้ด้วย ผู้รับไม่จำเป็นจะต้องเป็น “สงฆ์” โดยเฉพาะ ในที่นี้ เอา “ทานานิ” ไปถวายแก่สงฆ์ จึงพูดเป็นคำบาลีระบุลงไปเต็มคำว่า “สงฺฆสฺส ทานานิ” ถ้าเอา “ทานานิ” ไปให้ผู้อื่น ก็ต้องเปลี่ยน “สงฺฆสฺส” เป็นคำอื่น เช่น “อนาถานํ ทานานิ” = “ให้ทานแก่คนไร้ที่พึ่ง” อย่างนี้เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า “ทานานิ” เป็นอิสระ เอาไปให้ใครก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องให้แก่สงฆ์เสมอไป

แต่พอเป็น “สงฺฆทาน” หรือ “สงฺฆทานานิ” หรือ “สังฆะทานานิ” ความหมายก็เปลี่ยนไปทันที “สิ่งของ” ที่เป็น “-ทานานิ” นั้น จำกัดลงไปว่า ต้องเป็นสิ่งของที่ถวายแก่สงฆ์เท่านั้น หมายความว่า ของชนิดนั้นเป็นของที่ทำขึ้นเพื่อถวายแก่สงฆ์โดยเฉพาะ เอาไปให้แก่ใครอื่นไม่ได้

เมื่อความหมายเปลี่ยนไปเช่นนี้ สิ่งของเป็นอันมากก็เอามาถวายสังฆทานไม่ได้ เช่น –

อาหารก็ถวายสังฆทานไม่ได้ เพราะคนทั่วไปก็กินอาหารได้ด้วย ไม่ใช่กินได้เฉพาะสงฆ์

ยารักษาโรคก็ถวายสังฆทานไม่ได้ เพราะคนทั่วไปก็ใช้ยาได้ด้วย

จะเห็นได้ว่า แทบจะไม่มีสิ่งของอะไรเลยที่ทำขึ้นเพื่อเป็น “สังฆะทานานิ” คือของถวายสงฆ์โดยเฉพาะ

เพราะฉะนั้น ถ้ายังรักจะใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” ในคำถวายสังฆทาน ก็จะต้องถวายเฉพาะของที่ฉันได้ใช้ได้เฉพาะสงฆ์เท่านั้น จึงจะถูกต้องกับความหมายของคำว่า “สังฆะทานานิ”

ของที่คนทั่วไปก็กินได้ใช้ได้ เอาไปถวายแก่สงฆ์ ท่านเรียกว่า “ทาน” คำเดียว คำบาลีเปลี่ยนรูปเป็น “ทานํ” หรือ “ทานานิ” ดังแสดงไว้ข้างต้น ท่านไม่ได้เรียกว่า “สงฺฆทานํ” หรือ “สงฺฆทานานิ” ดังที่เอามาใช้กันเพลินไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาษาเป็นเรื่องที่ถูกสมมุติ

: แต่ต้องสมมุติให้ถูกเรื่อง

#บาลีวันละคำ (3,832)

09-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *