บาลีวันละคำ

ทำกัปปิยะ (บาลีวันละคำ 3,835)

ทำกัปปิยะ

คือทำอะไร

อ่านว่า ทำ-กับ-ปิ-ยะ

ประกอบด้วยคำว่า ทำ + กัปปิยะ

(๑) “ทำ”

เป็นคำไทยที่เราเข้าใจกันดีอยู่แล้ว แต่ขอยกพจนานุกรมมาทบทวนความรู้กันดังนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

…………..

ทำ (คำกริยา) :

(1) กระทํา, ประกอบขึ้น, ผลิตขึ้น, สร้างขึ้น, ก่อขึ้น, เช่น ทําเก้าอี้ ทําโต๊ะ ทํารองเท้า ทํารัง;

(2) ประกอบการงาน เช่น ทํานา ทําสวน ทําโป๊ะ;

(3) ดําเนินการ, ปฏิบัติงาน, เช่น ทําหน้าที่ประธาน ทําตามคําสั่ง ทําตามกฎหมาย;

(4) แต่งให้งาม เช่น ทําผม ทํานัยน์ตา ทําจมูก;

(5) คิดและปฏิบัติไปตามกฎเกณฑ์ที่กําหนดไว้ เช่น ทําเลข ทําการฝีมือ, ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการนั้น ๆ เช่น ทําวัตร ทําศพ;

(6) แสดง เช่น ทําเบ่ง;

(7) (ภาษาปาก) ศึกษาในระดับปริญญา เช่น ทําปริญญา ทําดอกเตอร์.”

…………..

(๒) “กัปปิยะ”

เขียนแบบบาลีเป็น “กปฺปิย” อ่านว่า กับ-ปิ-ยะ ประกอบขึ้นจาก กปฺป + อิย ปัจจัย

(1) กปฺป รากศัพท์มาจาก กปฺปฺ (ธาตุ = กำหนด) + อ (อะ) ปัจจัย

: กปฺปฺ + อ = กปฺป แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น”

(2) กปฺป + อิย = กปฺปิย มีความหมายว่า เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

“กปฺปิย” เขียนแบบไทยเป็น “กัปปิย-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “กัปปิยะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“กัปปิย-, กัปปิยะ : (คำวิเศษณ์) สมควร. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “กัปปิยะ” ไว้ว่า –

…………..

กัปปิยะ : สมควร, ควรแก่สมณะที่จะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ สิ่งที่ไม่เป็นกัปปิยะ เรียกว่า อกัปปิยะ

…………..

ทำ + กัปปิยะ = ทำกัปปิยะ แปลว่า “ทำให้สมควร” “ทำให้เหมาะสม”

คำว่า “ทำกัปปิยะ” เป็นภาษาพระวินัย พูดกันในหมู่ภิกษุ เช่นในกรณีที่จะฉันผลไม้บางชนิดที่ยังไม่พร้อมที่จะฉันได้ ก็พูดว่า “เอาไปทำกัปปิยะเสียก่อน” ดังนี้เป็นต้น

ขยายความ :

เรื่องนี้มาจากสิกขาบท (คือศีล) ของภิกษุในหมวดที่ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท สิกขาบทที่ 1 ในภูตคามวรรค มีเรื่องอันเป็นต้นเหตุว่า ภิกษุรูปหนึ่งตัดต้นไม้ ชาวบ้านติเตียน พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า –

…………..

ภูตคามปาตพฺยตาย ปาจิตฺติยํ.

ภิกษุพรากของเขียวซึ่งเกิดอยู่กับที่ให้หลุดจากที่ ต้องปาจิตตีย์

ที่มา:

– บาลี: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 354

– คำแปล: นวโกวาท หน้า 11

…………..

จากสิกขาบทนี้ ทำให้เกิดปัญหาว่า ภิกษุฉันผลไม้หรือพืชผักบางชนิดอันเป็นส่วนหนึ่งของ “ของเขียว” คือต้นไม้หรือพืช จะถือว่าเป็นความผิดฐาน “พรากของเขียว” ตามสิกขาบทนี้หรือไม่

ปัญหานี้เป็นเหตุให้พระพุทธองค์มีพุทธานุญาตไว้ว่า –

…………..

อนุชานามิ ภิกฺขเว ปญฺจหิ สมณกปฺเปหิ ผลํ ปริภุญฺชิตุํ อคฺคิปริจิตํ สตฺถปริจิตํ นขปริจิตํ อพีชํ นิพฺพฏฺฏพีชญฺเญว ปญฺจมํ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้โดยสมณกัปปะ (คือทำให้เป็นของควรแก่สมณะ) 5 อย่าง คือ (1) ผลไม้ที่ลนด้วยไฟ (2) ผลไม้ที่กรีดด้วยศัสตรา (3) ผลไม้ที่จิกด้วยเล็บ (4) ผลไม้ที่ไม่มีเมล็ด (5) ผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออกแล้ว

อนุชานามิ ภิกฺขเว อิเมหิ ปญฺจหิ สมณกปฺเปหิ ผลํ ปริภุญฺชิตุนฺติ ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้โดยสมณกัปปะ 5 อย่างนี้

ที่มา: วินัยปิฎก จุลวรรคมหา ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 25

…………..

จากคำว่า “สมณกัปปะ” นี้ ในคำอธิบายสิกขาบทนี้ตอนที่ว่าด้วยเงื่อนไขที่ไม่ต้องอาบัติ (คือไม่นับว่าเป็นความคิด) ท่านจึงบอกไว้ว่า –

…………..

อิมํ กปฺปิยํ กโรหีติ ภณติ

ภิกษุบอกว่า ท่านจงทำพืชนี้ให้เป็นกัปปิยะ

(เมื่อมีผู้ทำให้เป็นกัปปิยะแล้วก็ฉันได้ ไม่เป็นอาบัติฐานพรากของเขียว)

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 357

…………..

คำบาลีว่า “กปฺปิยํ กโรหิ” แปลว่า “ทำให้เป็นกัปปิยะ” พูดลัดตัดคำว่า “ทำกัปปิยะ” หมายถึง ทำให้ผลไม้หรือพืชผักที่นำมาถวายพระอยู่ในสภาพที่พร้อมจะฉันได้ โดยพระไม่ต้องปอกหรือผ่าด้วยตนเอง เป็นการตัดปัญหาเรื่อง “พรากของเขียว” ได้เด็ดขาด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรื่องกินเป็นเรื่องสำคัญ

: แต่จงเสียเวลากับมันให้น้อยที่สุด

#บาลีวันละคำ (3,835)

12-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *