บาลีวันละคำ

คุณากร กับ คุณาธร (บาลีวันละคำ 3,834)

คุณากร กับ คุณาธร

ต่างกันเพียงไหน

“คุณากร” อ่านว่า คุ-นา-กอน

“คุณาธร” อ่านว่า คุ-นา-ทอน

แยกศัพท์ตามที่เห็น มีคำว่า “คุณ” “อากร” และ “อาธร”

(๑) “คุณ

บาลีอ่านว่า คุ-นะ รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + อ (อะ) ปัจจัย

: คุณฺ + อ = คุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” (2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” (3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม”

“คุณ” ในบาลีหมายถึง –

(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord)

(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)

(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ (quality, good quality, advantage, merit)

(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold)

ตัวอย่างในข้อ (4) นี้ก็อย่างเช่นคำว่า “ทวีคูณ” ซึ่งแปลว่า “สองเท่า” (ทวี < ทฺวิ = สอง, คูณ = -เท่า) “-คูณ” คำนี้ก็แผลงมาจาก “คุณ” นี่เอง

“คุณ” ในภาษาไทย ใช้ตามความหมายเดิมในบาลีก็มี ใช้ตามความหมายเฉพาะในภาษาไทยก็มี ในที่นี้ขอยกมาเฉพาะที่ใช้ตามความหมายเดิม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“คุณ ๑, คุณ- : (คำนาม) ความดีที่มีประจำอยู่ในสิ่งนั้น ๆ เช่น คุณของแผ่นดิน, ความดีที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น ไม่รู้คุณข้าวแดงแกงร้อน; ความเกื้อกูล เช่น รู้คุณ. (ป., ส.). ฯลฯ”

(๒) “อากร”

บาลีอ่านว่า อา-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ยิ่ง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ (อะ) ปัจจัย

: อา + กรฺ + อ = อากร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำไปทั่วๆ” “ผู้ทำไปข้างหน้า” หมายถึง บ่อ, แหล่งกำเนิดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (a mine)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อากร : (คำนาม) หมู่, กอง, เช่น พลากร (พล + อากร); บ่อเกิด, ที่เกิด, เช่น ทรัพยากร ศิลปากร; ค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บ เช่น อากรรังนก อากรมหรสพ; คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้ว หมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น ดารากร นรากร ทวิชากร ประชากร หรืออาจมีความหมายคงเดิมก็ได้ เช่น พระปฏิมากร.”

(๒) “อาธร”

ขอบอกก่อนว่า รูปคำเช่นนี้ไม่มีในบาลีสันสกฤต แต่เมื่อจะแยกก็แยกเป็น อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย

(1): ธรฺ + อ = ธร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้” หมายถึง รองรับ, สวม, เก็บ; จำไว้ในใจ, ท่องจำ (bearing, wearing, keeping; holding in mind, knowing by heart)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ธร : (คำนาม) การยึดไว้, การถือไว้, การทรงไว้, การมีไว้; ผู้รักษาไว้, ผู้ทรงไว้, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น วิชาธร วินัยธร. (ป.; ส.).”

(2): อา + ธรฺ = อาธร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้ทั่ว” มีความหมายอย่างเดียวกับ “ธร”

โปรดอย่าลืมว่า “อาธร” ไม่มี มีแต่ “อาธาร” (ธาร ไม่ใช่ ธร) บาลีอ่านว่า อา-ทา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ธ-(รฺ) เป็น อา (ธรฺ > ธาร)

: อา + ธรฺ = อาธรฺ + ณ = อาธรณ > อาธร > อาธาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้ทั่ว” (holder)

“อาธาร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ภาชนะ, ที่รองรับ, อ่าง (a container, receptacle, basin)

(2) สนับสนุน, ฐาน, ที่ค้ำ (support, basis, prop)

การประสมคำ :

๑ คุณ + อากร = คุณากร แปลว่า แหล่งกำเนิดแห่งความดีงาม, แหล่งกำเนิดคุณประโยชน์

๒ คุณ + อาธร = คุณาธร แปลว่า ทรงไว้ซึ่งความดีงาม, ทรงไว้ซึ่งคุณประโยชน์

ขยายความ :

ขอย้ำว่า คำว่า “คุณาธร” ที่ประสมคำและแปลไว้นี้เป็นการฝืนหลักภาษา เพราะรูปคำ “อาธร” ไม่มีในบาลีสันสกฤต มีแต่ “อาธาร” ซึ่งว่าตามรากศัพท์แล้วก็มาจากที่เดียวกัน แต่จะอ้างว่า ถ้า อา + ธาร มีได้ อา + ธร ก็ควรจะมีได้ด้วย เพราะ “มาจากที่เดียวกัน” อย่างนี้ ก็อ้างไม่ได้ เพราะรูปคำหนึ่งมีใช้ในหนังสือ แต่อีกรูปคำหนึ่งไม่มีใช้หนังสือ

แต่เมื่อรูปคำเช่นนี้ (อาธร > คุณาธร) มีผู้ใช้ขึ้นในภาษาไทย ก็ต้องฝืนแปลไปตามที่ตาเห็น และต้องถือว่าคำนี้เป็นวิสามานยนาม (proper name) มีสิทธิ์ที่จะอ้างว่า จะสะกดอย่างไร อ้างที่มาอย่างไร แปลอย่างไร และจะให้มีความหมายอย่างไร ต้องเป็นไปตามเจตนาของเจ้าของคำหรือผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมา แต่จะใช้เป็นคำทั่วไป ก็บอกได้เพียงว่า ตามหลักภาษาแล้วรูปคำเช่นนี้ไม่มี

ถ้าเป็น “อาธาร” รูปคำก็จะเป็น คุณ + อาธาร = คุณาธาร ถูกต้องตามหลักภาษาและรูปคำที่มีใช้ในหนังสือ แต่คำนี้อยู่นอกกรอบของคำถาม

ถ้าตัดประเด็นถูกหลักภาษาหรือไม่ถูกออกไป ดูความหมายของคำเท่าที่ตาเห็น ก็สรุปได้ว่า –

“คุณากร” แปลว่า แหล่งกำเนิดแห่งความดีงาม, แหล่งกำเนิดคุณประโยชน์ หมายถึง เป็นที่มาแห่งความดีงามหรือคุณประโยชน์ มีนัยว่าสร้างความดีงามหรือคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วย

“คุณาธร” แปลว่า ทรงไว้ซึ่งความดีงาม, ทรงไว้ซึ่งคุณประโยชน์ หมายถึง ผู้นั้นหรือสิ่งนั้นมีความดีงามหรือมีคุณประโยชน์อยู่ในตัว ไม่ได้เพ่งเล็งว่าสร้างความดีงามหรือคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วยหรือไม่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เป็นอะไรก็สำคัญ

: แต่ทำอะไรสำคัญกว่า

————————

ตอบคำถามของท่านอาจารย์ Suri Phancharoen ผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติจากสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้มีอุปการคุณต่อวงการวรรณศิลป์ รับรางวัล “วรรณศิลป์คุณากร” ประจำปี 2565

#บาลีวันละคำ (3,834)

11-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *