บาลีวันละคำ

สาลิ – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด (บาลีวันละคำ 3,836)

สาลิ – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด

…………..

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2508, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 126 (คาถา 450) (เชิงอรรถ) บอกรายการธัญชาติ 7 ชนิดไว้ดังนี้ –

(1) สาลิ = ข้าวสาลี

(2) วีหิ = ข้าวเจ้า

(3) ยโว = ข้าวเหนียว

(4) โคธุโม = ข้าวละมาน

(5) กงฺุคุ = ข้าวฟ่าง

(6) วรโก = ลูกเดือย

(7) กุทฺรูโส = หญ้ากับแก้

…………..

“สาลิ” = ข้าวสาลี

อ่านว่า สา-ลิ (โปรดสังเกต รูปศัพท์เดิม -ลิ สระอิ ไม่ใช่ -ลี สระอี) รากศัพท์มาจาก –

(1) สาลฺ (ธาตุ = ยก, สรรเสริญ) + อิ ปัจจัย

: สาลฺ + อิ = สาลิ แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวที่ยกรวงขึ้น”

(2) ส (แทนศัพท์ว่า “เขตฺต” = นา) + ลิ (ธาตุ = ติดแน่น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ทีฆะ อะ ที่ ส เป็น อา (ส > สา)

: ส + ลิ = สลิ + กฺวิ = สลิกฺวิ > สลิ > สาลิ แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวที่ขึ้นติดอยู่ในนา”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาลิ” (ปุงลิงค์) ว่า rice คือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ข้าว

บาลี “สาลิ” สันสกฤตเป็น “ศาลิ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

“ศาลิ : (คำนาม) ข้าวทั่วไป; rice in general.”

โปรดสังเกตว่า ในสันสกฤตก็หมายถึง ข้าวทั่วไป (rice in general)

ในภาษาไทยใช้ว่า “สาลิ” และ “สาลี” แต่ “สาลิ” (-ลิ สระอิ) ไม่นิยมใช้ มักใช้ว่า “สาลี” (-ลี สระอี) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) สาลิ, สาลี ๑ : (คำนาม) ข้าว; ข้าวสาลี. (ป.).

(2) สาลี ๒ : (คำนาม) ข้าวสาลี. (ดู ข้าวสาลี).

ที่คำว่า “ข้าวสาลี” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

“ข้าวสาลี : (คำนาม) ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Triticum aestivum L. ในวงศ์ Gramineae เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ เมล็ดบดเป็นแป้ง เรียกว่า แป้งสาลี ใช้ทําขนมปังเป็นต้น.”

อภิปรายขยายความ :

ตามคำนิยามของพจนานุกรมฯ เป็นที่เข้าใจกันว่า “ข้าวสาลี” ก็คือธัญชาติที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า wheat

ในหมู่คนไทยเอง ถ้าพูดถึงข้าวสาลีหรือแป้งสาลี ก็จะเข้าใจตรงกันว่าหมายถึง wheat ไม่มีใครนึกถึง rice

“สาลิ” หลายคำในภาษาบาลี พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า rice ทุกคำ ไม่มีแปลว่า wheat เลย เช่น –

สาลิเขตฺต = a rice-field (นาข้าว)

สาลิคพฺภ = ripening (young) rice (ข้าวตั้งท้อง)

สาลิพีช = rice seed (เมล็ดข้าว)

สาลิภตฺต = a meal of rice (อาหารคือข้าว)

สาลิโภชน = rice food (อาหารคือข้าว)

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เราแปล wheat ว่า “ข้าวสาลี” จนเป็นที่รับรู้ในหมู่คนไทยทั่วโลก ครั้นมาพบคำบาลีว่า “สาลิ” ซึ่งถ้าแปลทับศัพท์ตามศัพท์ก็ต้องแปลว่า “ข้าวสาลี” แต่แล้วก็แปลเช่นนั้นไม่ได้ ถูกผู้รู้ทักท้วงว่า “สาลิ ไม่ใช่ข้าวสาลี” หมายความว่า “สาลิ” ไม่ใช่ wheat

คำท้วงว่า “สาลิ ไม่ใช่ข้าวสาลี” นับว่าเป็นคำท้วงที่ประหลาดที่สุด ทั้งนี้เพราะ “สาลิ” นี่แหละคือ “ข้าวสาลี” ตัวจริง

ควรจะบอกกันให้เข้าใจว่า –

“สาลิ คือข้าวสาลี”

“wheat ไม่ใช่ข้าวสาลี”

การที่เราไปเรียก wheat ว่า “ข้าวสาลี” นั่นเองคือปฐมเหตุแห่งความผิดพลาด แล้วเราก็ปล่อยให้ผิดอยู่เช่นนั้น ไม่แก้ไข จนในที่สุดผิดกลายเป็นถูก และพอไปแปล “สาลิ” ว่า “ข้าวสาลี” ถูกกลับกลายเป็นผิด

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอวิธีแก้ปัญหานี้ ดังนี้ –

๑ เลิกเรียก wheat ว่า “ข้าวสาลี” หรือ “แป้งสาลี” กันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

๒ ถ้าจะเรียก wheat เป็นคำไทย ขอเสนอให้เรียกว่า “ข้าวละมาน”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ข้าวละมาน : (ภาษาถิ่น-อีสาน) (คำนาม) ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Oryza minuta J. Presl et C. Presl ในวงศ์ Gramineae เป็นข้าวป่าชนิดหนึ่ง มักขึ้นแซมต้นข้าว, หญ้าละมาน ก็เรียก.”

คำว่า “ข้าวละมาน” พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาใช้เป็นคำแปลคำว่า “โคธุโม” อันเป็น 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด (ดูข้างต้น)

“โคธุโม” รูปศัพท์เดิมเป็น “โคธุม” (สะกดเป็น “โคธูม” ก็มี) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า wheat ตรงตัวชัดเจน

๓ ถ้ายังพอใจที่จะใช้คำบาลีสันสกฤต ขอเสนอให้เรียก wheat ว่า “ข้าวโคธุม” (อันที่จริงควรจะเรียก wheat ว่า “ข้าวโคธุม” มาแต่แรกอยู่แล้ว)

๔ ถ้ายังหาคำใหม่มาเรียกไม่ได้ ก็ให้เรียกทับศัพท์ว่า “ข้าวหวีต” หรือ “แป้งหวีต” ทุกวันนี้คนไทยพร้อมที่จะทับศัพท์คำฝรั่งอยู่แล้ว จึงไม่ควรเป็นปัญหา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ

: จึงจำเป็นที่สุดที่จะต้องช่วยกันสมมุติให้ถูกต้องดีงาม

#บาลีวันละคำ (3,836)

14-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *