บาลีวันละคำ

วีหิ – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด (บาลีวันละคำ 3,837)

วีหิ – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด

…………..

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2508, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 126 (คาถา 450) (เชิงอรรถ) บอกรายการธัญชาติ 7 ชนิดไว้ดังนี้ –

(1) สาลิ = ข้าวสาลี

(2) วีหิ = ข้าวเจ้า

(3) ยโว = ข้าวเหนียว

(4) โคธุโม = ข้าวละมาน

(5) กงฺุคุ = ข้าวฟ่าง

(6) วรโก = ลูกเดือย

(7) กุทฺรูโส = หญ้ากับแก้

…………..

“วีหิ” = ข้าวเปลือก (?)

อ่านว่า วี-หิ รากศัพท์มาจาก –

(1) วหฺ (ธาตุ = นำไปให้ถึง, บรรลุ) + อิ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ว-(หฺ) เป็น อี (วหฺ > วีห)

: วหฺ + อิ = วหิ > วีหิ แปลตามศัพท์ว่า “ธัญชาติที่นำชีวิตของสัตว์ไป” (หมายถึง เมื่อสัตว์กินธัญชาตินี้ก็ทำให้ดำรงชีวิตต่อไปได้)

(2) พฺรูหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, แปลง พฺ เป็น ว, ลบ ร, แปลง อู เป็น อี (พฺรูหฺ > วรูห > วูห > วีห)

: พฺรูหฺ > วรูห > วูห > วีห + อิ = วีหิ แปลตามศัพท์ว่า “ธัญชาติที่ยังชีวิตของสัตว์ให้เจริญเติบโต”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วีหิ” (ปุงลิงค์) ว่า ข้าวเปลือก, ข้าวกล้า, ข้าวเจ้า

อภิปรายขยายความ :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วีหิ” ว่า rice, paddy (ข้าว, ต้นข้าว)

โปรดสังเกตว่า –

“วีหิ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า rice

“สาลิ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปลว่า rice (ดู: บาลีวันละคำ (3,836) สาลิ – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด)

แล้ว rice “สาลิ” กับ rice “วีหิ” ต่างกันอย่างไร? แต่ว่าต้องต่างกันแน่ เพราะอยู่ในรายการธัญชาติ 7 ชนิดทั้ง 2 ชื่อ จะหมายถึงธัญชาติชนิดเดียวกันไม่ได้อยู่เอง

บาลี “วีหิ” สันสกฤตเป็น “วฺรีหิ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

“วฺรีหิ : (คำนาม) ข้าวชนิดต่างๆ; rice of various kinds.”

ตามสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน “วีหิ > วฺรีหิ” = “ข้าวชนิดต่างๆ” ก็หมายความว่า “วีหิ” เป็น “ข้าว” (rice) แต่ไม่ใช่ข้าวชนิดไหนโดยเฉพาะ

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาฉบับกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ดังแสดงไว้ข้างต้นแปล “สาลิ” ว่า “ข้าวสาลี” แปล “วีหิ” ว่า “ข้าวเจ้า”

พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปลจาก THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY EDITED BY T. W. RHYS DAVIDS ที่คำว่า ธญฺญ 1 (Dhañña1) แปล “สาลิ” และ “วีหิ” รวมกันว่า “ข้าวเจ้า” (ต้นฉบับอังกฤษ: sāli & vīhi = rice-sorts) ที่คำว่า “สาลิ” แปลว่า “ข้าว” เฉยๆ (ต้นฉบับอังกฤษ: sāli = rice) และที่คำว่า “วีหิ” แปลว่า “ข้าวเปลือก” (ต้นฉบับอังกฤษ: vīhi = rice)

คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา แปลโดยพระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโล (นิรัญรักษ์) และนายจำรูญ ธรรมดา พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559, หจก.ประยูรสาส์นไทยการพิมพ์ กรุงเทพฯ หน้า 182 (คาถา 450) ก็แปล “วีหิ” ว่า “ข้าวเปลือก”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ที่คำว่า “ธัญชาติ” บอกไว้ว่า –

“ธัญชาติ : (คำนาม) คํารวมเรียกข้าวต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาลี, ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาว่ามี ๗ อย่าง คือ ๑. ข้าวไม่มีแกลบ ๒. ข้าวเปลือก ๓. หญ้ากับแก้ ๔. ข้าวละมาน ๕. ลูกเดือย ๖. ข้าวแดง ๗. ข้าวฟ่าง.” (ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่ เหลือเพียง “คํารวมเรียกข้าวต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาลี.”)

เปรียบเทียบตามรายชื่อ “ธัญชาติ” 7 อย่างที่อ้างในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (ซึ่งอ้างคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา) กับรายชื่อในพระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาที่แสดงไว้ข้างต้น เฉพาะคำแปลที่ตรงกัน มีดังนี้ –

๑. ข้าวไม่มีแกลบ = ?

๒. ข้าวเปลือก = ?

๓. หญ้ากับแก้ = (7) กุทฺรูโส = หญ้ากับแก้

๔. ข้าวละมาน = (4) โคธุโม = ข้าวละมาน

๕. ลูกเดือย = (6) วรโก = ลูกเดือย

๖. ข้าวแดง = ?

๗. ข้าวฟ่าง = (5) กงฺุคุ = ข้าวฟ่าง

คงเหลือ ๑. ข้าวไม่มีแกลบ ๒. ข้าวเปลือก ๖. ข้าวแดง เทียบกับรายชื่อในพระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาที่เหลืออยู่ก็คือ (1) สาลิ = ข้าวสาลี (2) วีหิ = ข้าวเจ้า (3) ยโว = ข้าวเหนียว

ข้าวอะไรควรจะเทียบได้กับข้าวอะไร?

๑. ข้าวไม่มีแกลบ ควรจะตรงกับ (1) สาลิ = ข้าวสาลี

๒. ข้าวเปลือก ควรจะตรงกับ (2) วีหิ = ข้าวเจ้า

๖. ข้าวแดง ควรจะตรงกับ (3) ยโว = ข้าวเหนียว

ดังนั้น “วีหิ” ก็ควรจะหมาย “ข้าวเปลือก” ซึ่งก็ตรงกับพจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ และคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา แปลโดยพระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโล (นิรัญรักษ์) และนายจำรูญ ธรรมดา ที่แปลว่า “วีหิ” ว่า “ข้าวเปลือก” ตรงกัน

แต่พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาที่แสดงไว้ข้างต้น แปล “วีหิ” ว่า “ข้าวเจ้า”

ตามที่เข้าใจกันทั่วไป ข้าวที่คู่กับ “ข้าวเจ้า” คือ “ข้าวเหนียว” ถ้าเอาอาหารของคนภาคกลางเป็นเกณฑ์ “ข้าวเจ้า” กินอย่างของคาว “ข้าวเหนียว” กินอย่างของหวาน

“ข้าวเจ้า” และ “ข้าวเหนียว” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) ข้าวเจ้า : (คำนาม) ชื่อข้าวพันธุ์หนึ่งของชนิด Oryza sativa L. เนื้อเมล็ดใสใช้หุงเป็นอาหาร เมื่อหุงแล้วเมล็ดมักร่วนและสวย มีชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวมันปู. (ไทใหญ่ เจ้า ว่า เปราะ, ร่วน, ไม่เหนียว; ไทขาว เจ้า ว่า หุง).

(2) ข้าวเหนียว : (คำนาม) ชื่อข้าวพันธุ์หนึ่งของชนิด Oryza sativa L. เนื้อเมล็ดขุ่นกว่าข้าวเจ้า เมื่อหุงหรือนึ่งแล้วเมล็ดจะเหนียวติดกัน มีชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเหนียวดํา, ข้าวเหนียวที่เอามากวนกับกะทิและนํ้าตาลทราย เรียกว่า ข้าวเหนียวแก้ว, ถ้าเอามากวนกับกะทิและนํ้าตาลหม้อมีสีแดงเป็นสีนํ้าตาลไหม้ เรียกว่า ข้าวเหนียวแดง, ถ้าเอามานึ่งใส่หน้ากะทิตัดเป็นชิ้น ๆ เรียกว่า ข้าวเหนียวตัด, ถ้าเอามาห่อแล้วนึ่งใส่หน้ากะทิ เรียกว่า ข้าวเหนียวห่อ; เรียกผลไม้ที่มีเนื้อนุ่มและเหนียวอย่างข้าวเหนียว เช่น สาเกข้าวเหนียว มะตาดข้าวเหนียว.

…………..

ถ้า “วีหิ” คือ “ข้าวเปลือก” หมายถึง rice ที่ยังไม่ได้สีเป็นข้าวสาร และ “สาลิ” คือ rice ที่สีเป็นข้าวสารแล้ว ก็จะตรงกับ “ข้าวไม่มีแกลบ” ตามคำอธิบายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 และตอบคำถามได้ว่า rice “สาลิ” กับ rice “วีหิ” ต่างกันอย่างไร

– rice “สาลิ” = ข้าวสาร

– rice “วีหิ” = ข้าวเปลือก

นี่เป็นเพียงความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ ขอฝาก “นักเลงบาลี” ให้ช่วยกันพิจารณาต่อไปเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า

: น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย

: เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ

: รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ

ถามนักเลงกลอนว่า กลอนบทนี้ใครแต่ง?

#บาลีวันละคำ (3,837)

15-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *