บาลีวันละคำ

วรโก – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด (บาลีวันละคำ 3,841)

วรโก – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด

…………..

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2508, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 126 (คาถา 450) (เชิงอรรถ) บอกรายการธัญชาติ 7 ชนิดไว้ดังนี้ –

(1) สาลิ = ข้าวสาลี

(2) วีหิ = ข้าวเจ้า

(3) ยโว = ข้าวเหนียว

(4) โคธุโม = ข้าวละมาน

(5) กงฺคุ = ข้าวฟ่าง

(6) วรโก = ลูกเดือย

(7) กุทฺรูโส = หญ้ากับแก้

…………..

“วรโก” = ลูกเดือย

อ่านว่า วะ-ระ-โก รูปคำเดิมเป็น “วรก” อ่านว่า วะ-ระ-กะ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = รักษา, ป้องกัน) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: วรฺ + ณฺวุ = วรณฺวุ > วรก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “พืชที่ป้องกันตัวได้” (คือมีเปลือกหุ้ม) (2) “พืชอันคนระวังเพราะคายมาก”

“วรก” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “วรโก”

คำแปล :

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาที่แสดงไว้ข้างต้น แปล “วรก” ว่า ลูกเดือย

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วรก” ว่า ลูกเดือย, ข้าวฟ่าง

คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา แปลโดยพระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโล (นิรัญรักษ์) และนายจำรูญ ธรรมดา พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559, หจก.ประยูรสาส์นไทยการพิมพ์ กรุงเทพฯ หน้า 182 (คาถา 450) ก็แปล “วรก” ว่า ข้าวโพด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วรก” ว่า the bean Phaseolus trilobus พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปลเป็นไทยว่า ลูกเดือย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายด้วยว่า where equal to kalāya (ซึ่งเหมือนกับ กลาย) (กลาย อ่านว่า กะ-ลา-ยะ)

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ฯ มีศัพท์ว่า “กลาย” และ “กฬาย” แปลตามศัพท์ว่า “ถั่วที่รับลม” และหมายถึง ถั่วดำ, ถั่วราชมาส

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กลาย” ว่า a kind of pea, the chick-pea พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปลเป็นไทยว่า ถั่วชนิดหนึ่ง, ถั่วมะฮะ

คำว่า “มะฮะ” ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แต่ชื่อนี้แปลจากคำว่า the chick-pea

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล chick-pea ว่า ถั่วเขียว

ถ้าถือตามพจนานุกรมที่อ้างนี้: วรก > กลาย > ถั่วเขียว

อย่างไรก็ตาม ที่คำว่า “กลาย” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายต่อไปว่า kalāya = varaka, the bean Phaseolus trilobus, and kālarāja-māsa พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปลเป็นไทยว่า กลาย = วรก, ถั่วราชมาส และกาลราชมาส

โปรดสังเกตว่า:

– ที่คำว่า “วรก” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า the bean Phaseolus trilobus พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปลเป็นไทยว่า ลูกเดือย

– ที่คำว่า “กลาย” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เทียบกับคำว่า “วรก” และแปลว่า the bean Phaseolus trilobus ตรงกัน แต่พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปลเป็นไทยว่า ถั่วราชมาส

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายขนาดของ “กลาย” ว่า ขนาดใหญ่กว่าถั่วแดง [มุคฺค] และเล็กกว่าเมล็ดกระเบา [โกลฏฺฐิ] (It is larger than a kidney bean [mugga] and smaller than the kernel of the jujube [kolaṭṭhi]).

ตอนนี้ ถ้าถือตามพจนานุกรมที่อ้างมา: วรก > ลูกเดือย > ข้าวโพด > กลาย > ถั่วเขียว > ถั่วราชมาส

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ถั่วเขียว” ไว้ (ทั้งๆ ที่เอ่ยชื่อไว้ในบทนิยามคำว่า “ถั่ว” และที่คำว่า “เขียว” ก็มีที่หมายถึง -สี (สีเขียว) -เหม็น (เหม็นเขียว) -งู (งูเขียว) แต่ไม่มีที่หมายถึง -ถั่ว (ถั่วเขียว) นับว่าแปลกมาก) แต่พจนานุกรมฯ มีคำว่า “ราชมาส” บอกไว้ดังนี้ –

“ราชมาษ, ราชมาส : (คำนาม) ชื่อถั่วชนิด Phaseolus lunatus L. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อไม่แตกแขนง, มาส หรือ ถั่วทอง ก็เรียก.”

ถ้าถือตามพจนานุกรมที่อ้างมา สรุปว่า: วรก (บาลี) > ลูกเดือย > ข้าวโพด > กลาย (บาลี) > ถั่วเขียว > ถั่วราชมาส > ถั่วทอง

ยุติได้ระดับหนึ่งว่า “วรก” 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด คือ ลูกเดือย

แต่งานของนักเรียนบาลีน่าจะยังไม่ยุติ คือควรจะสืบค้นต่อไปว่า “วรก” คือธัญชาติหรือพืชชนิดไหนกันแน่

ผู้เขียนบาลีวันละคำยกพจนานุกรมต่างๆ มาให้ดูเป็นข้อมูลชั้นต้นแล้ว หวังใจว่านักเรียนบาลีของไทยเราที่มีฉันทะอุตสาหะคิดจะศึกษาตรวจสอบสานต่อสืบไปคงจะมีอยู่บ้าง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ลูกเดือยกินได้ แต่อิ่มไม่นาน

: ความรู้กินไม่ได้ แต่อิ่มนาน

#บาลีวันละคำ (3,841)

18-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *