บาลีวันละคำ

ธัชวิทยา (บาลีวันละคำ 1,801)

ธัชวิทยา

อาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตา แต่สำคัญ

อ่านว่า ทัด-ชะ-วิด-ทะ-ยา

แยกศัพท์เป็น ธัช + วิทยา

(๑) “ธัช

บาลีเป็น “ธช” (ทะ-ชะ) รากศัพท์มาจาก ธชฺ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย

: ธชฺ + = ธช (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่สะบัดไป” หมายถึง ธงทั่วไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธช” ว่า a flag, banner; mark, emblem, sign, symbol (ธง, สัญลักษณ์; เครื่องหมาย, เครื่องแสดง, เครื่องสังเกต)

บาลี “ธช” สันสกฤตเป็น “ธฺวช

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ธฺวช : (คำนาม) ‘ธวัช,’ เกตุ, ปตาก, ธง; จิน์ห, ลักษณะ; คุหยางค์หรือคุหเยนทรีย์, องค์ที่ลับของชาย; เรือนอันปลูกหรือตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง; เสาธง; (คำใช้ในกวิตา) บาทสองพยางค์; ผู้ต้มกลั่นสุรา, คำว่า ‘สุราการ, สุราชีวิน, สุราโศณฑิ (แผลงจาก – เศาฑิ)’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; อหังการ; กุหกวฤตติ (แผลงเปน – กุหกพฤติ) ความหน้าไหว้หลังหลอก, ความโกง; a flag or banner; a mark, a sign or symbol; the penis; a house situated to the east of any subject; a flag-staff; (in prosody) an iambic; a distiller; pride; hypocrisy, fraud.”

(๒) “วิทยา

บาลีเป็น “วิชฺชา” (วิด-ชา) รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)

บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา

โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”

บาลี : ธช + วิชฺชา = ธชวิชฺชา (ทะ-ชะ-วิด-ชา)

สันสกฤต : ธฺวช + วิทฺยา = ธฺวชวิทฺยา > ธวัชวิทยา (ทะ-วัด-วิด-ทะ-ยา)

บาลีผสมสันสกฤต : ธช + วิทฺยา = ธชวิทฺยา > ธัชวิทยา (ทัด-ชะ-วิด-ทะ-ยา)

ธัชวิทยา” แปลว่า “วิชาว่าด้วยธง

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ให้ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ธัชวิทยา” ไว้ตอนหนึ่งว่า –

………..

ธัชวิทยา ([ทัดชะวิดทะยา]; อังกฤษ: vexillology) คือวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับธง ชื่อวิชา Vexillology เริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500 โดย วิทนีย์ สมิท ผู้แต่งหนังสือเรื่อง ธง และบทความเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับธง ในช่วงแรกยังนับเป็นสาขาย่อยของ”วิชาการผูกตราสัญลักษณ์” (heraldry) ซึ่งบางครั้งก็ยังถือว่าเป็นดังนั้นอยู่ นอกจากนี้ก็ยังอาจถือว่าเป็นสาขาของวิชา สัญญาณศาสตร์ (semiotics) วิชานี้ได้มีการนิยามไว้ในข้อบังคับของ สหพันธ์ธัชวิทยานานาชาติ – FIAV (Fédération internationale des associations vexillologiques) ว่าเป็น “การสร้างสรรค์และพัฒนาการว่าด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับธงทุกประเภท ทุกรูปแบบ ทุกหน้าที่ใช้สอย และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และหลักการที่เป็นพื้นฐานแห่งความรู้นี้” บุคคลผู้ศึกษาเกี่ยวกับธงเรียกว่า “นักธัชวิทยา” (vexillologist) และเรียกผู้ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบธงหรือนักออกแบบธง เป็นภาษาอังกฤษว่า vexillographer

………..

หมายเหตุ : โปรดตรวจสอบความถูกต้องกับแหล่งข้อมูลอื่นๆ ต่อไป

ความเห็นส่วนตัว :

โดยส่วนตัว ผู้เขียนบาลีวันละคำชอบคำว่า “ธวัชวิทยา” มากกว่า “ธัชวิทยา

ธวัชวิทยา” อ่านตามหลักการอ่านคำสมาสสนธิว่า ทะ-วัด-ชะ-วิด-ทะ-ยา (มี -ชะ- กลางคำ) แต่ควรยอมเสียหลักสักนิดหน่อย คืออ่านว่า ทะ-วัด-วิด-ทะ-ยา (ไม่มี -ชะ-) เสียงจะราบรื่นพลิ้วกว่า “ธัชวิทยา” – ทัด-ชะ-วิด-ทะ-ยา ซึ่งเสียงออกจะแข็งๆ อยู่เป็นอันมาก

ธวัช” เป็นรูปคำสันสกฤตเข้าคู่สอดคล้องกับ “วิทยา” ซึ่งก็เป็นรูปคำสันสกฤตอยู่แล้ว แม้ว่าตามหลักภาษา บาลีกับสันสกฤตเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน สมาส+สนธิกันได้ไม่ผิดหลักก็จริง แต่ถ้าเป็นสันสกฤตด้วยกันตลอดทั้งศัพท์ ก็ย่อมจะดูกลมกลืนดีกว่ากัน

…………..

อภิปราย :

ธง มีความหมายสำคัญเพียงไร จะเห็นได้จากพระพุทธพจน์ในธชัคคสูตร (ธชัคคสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๘๖๓-๘๖๖) ที่พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องสงครามระหว่างเทวดากับอสูร (เทวาสุรสงคราม) ว่า พระอินทร์ซึ่งเป็นจอมทัพเทวดาปลุกใจทวยเทพว่า เมื่อสงครามประชิด หากหวาดหวั่นครั่นคร้ามก็ให้มองไปที่ยอดธงของเทพผู้เป็นแม่ทัพ ก็จะเกิดความฮึกหาญหายสะดุ้งกลัว ดังนี้ฉันใด

พุทธบริษัทเมื่อจะปฏิบัติธรรม หากเกิดความย่อท้อก็ให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอันเป็นประดุจยอดธงชัยของชาวพุทธ ก็จะเกิดอุตสาหะหายย่อท้อได้ ฉันนั้น

ชาติต่างๆ ในโลกนี้ล้วนมีธงประจำชาติและให้ความสำคัญแก่ธงชาติของตนด้วยกันทั้งสิ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเห็นธงชาติเป็นเพียงผืนผ้า

: ก็อย่ามาเสนอหน้าเป็นคนไทย

14-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย