ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ – 1 ในโพชฌงค์ 7 (บาลีวันละคำ 3,844)
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ – 1 ในโพชฌงค์ 7
อ่านว่า ทำ-มะ-วิ-จะ-ยะ-สำ-โพด-ชง
ประกอบด้วยคำว่า ธัมมวิจย + สัมโพชฌงค์
(๑) “ธัมมวิจย”
อ่านว่า ทำ-มะ-วิ-จะ-ยะ ประกอบด้วยคำว่า ธัมม + วิจย
(ก) “ธัมม” เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –
สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ ความหมายครอบคลุมหมดทุกข้อ
(ข) “วิจย” อ่านว่า วิ-จะ-ยะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ กัน) + จิ (ธาตุ = สะสม, เจริญ, รวบรวม, ก่อสร้าง) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ ที่ จิ เป็น อย (จิ > จย)
: วิ + จิ = วิจิ > วิจย + อ = วิจย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การรวบรวมโดยวิธีแยกแยะ” หมายถึง การเลือก, การวิจัย, การตรวจสอบ (search, investigation, examination)
บาลี “วิจย” สันสกฤตก็เป็น “วิจย” เช่นเดียวกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิจย : (คำนาม) ‘วิจัย,’ การแสวงหาหรือค้น; search or research.”
“วิจย” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิจัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) วิจัย ๑ : (คำนาม) การสะสม, การรวบรวม. (ป., ส.).
(2) วิจัย ๒ : (คำนาม) การค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา เช่น วิจัยเรื่องปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร. (คำกริยา) ค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา เช่น เขากำลังวิจัยเรื่องมลพิษทางอากาศอยู่. (คำวิเศษณ์) ที่ค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา เช่น งานวิจัย. (อ. research).
“วิจัย” ๑ พจนานุกรมฯ บอกว่ามาจากบาลีสันสกฤต ก็คือมาจาก “วิจย” ส่วน “วิจัย” ๒ พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่ามาจากภาษาอะไร แต่บอกคำอังกฤษไว้ว่า research
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล research ว่า สืบเสาะ, ค้นหว้าหาความรู้, วิจัย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล research เป็นบาลีดังนี้ –
(1) anvesanā อนฺเวสนา (อัน-เว-สะ-นา) การแสวงหา, การค้นหา, การสืบสวน (seeking, searching, investigation)
(2) gavesanā คเวสนา (คะ-เว-สะ-นา) การแสวงหา, การตามหา (search for)
(3) magganā มคฺคนา (มัก-คะ-นา) การตามหาหรือแสวงหา, ความอยากได้ tracking, search for, covetousness
(4) vicāraṇā วิจารณา (วิ-จา-ระ-นา) (1) การสืบสวน, การแสวงกา, การเอาใจใส่ (investigation, search, attention) (2) การจัดแจง, การวางแผน, การดูแล; แผนการ (arranging, planning, looking after; scheme)
(5) vicaya วิจย (วิ-จะ-ยะ) การค้นคว้า, การวิจัย (research, investigation)
ธมฺม + วิจย = ธมฺมวิจย (ทำ-มะ-วิ-จะ-ยะ) แปลเท่าศัพท์หรือทับศัพท์ว่า “การวิจัยธรรม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมวิจย” ว่า investigation of doctrine, religious research (การวิจัยธรรม, การค้นคว้าทางศาสนา)
“ธมฺมวิจย” ถ้าใช้ตามลำพัง นิยมเขียนเป็น “ธัมมวิจยะ” (ทำ-มะ-วิ-จะ-ยะ) หรือ“ธรรมวิจัย” (ทำ-มะ-วิ-ไจ)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธัมมวิจยะ” ไว้ว่า –
…………..
ธัมมวิจยะ : ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม ให้รู้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนถึงความจริง ตรงเต็มตามสภาวะ (ข้อ ๒ ในโพชฌงค์ ๗).
…………..
ในที่นี้ “ธมฺมวิจย” เป็นส่วนหน้าของคำสมาส คือมีคำว่า “สัมโพชฌงค์” มาต่อท้าย สะกดเป็น “ธัมมวิจย-”
(๒) “สัมโพชฌงค์”
อ่านว่า สำ-โพด-ชง เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺโพชฺฌงฺค” อ่านว่า สำ-โพด-ชัง-คะ แยกศัพท์เป็น สมฺโพชฺฌ + องฺค
(ก) “สมฺโพชฺฌ” อ่านว่า สำ-โพด-ชะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + พุธฺ (ธาตุ = รู้, ตื่น, เบ่งบาน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ (ณฺย > ย), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง ธ ที่ (พุ)-ธฺ กับ ย เป็น ชฺฌ, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)
: สํ + พุธฺ = สํพุธฺ + ณฺย = สํพุธณฺย > สํพุธฺย > สมฺพุธฺย > สมฺพุชฺฌ > สมฺโพชฺฌ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การรู้พร้อม” “เครื่องรู้พร้อม” หมายถึง ปัญญาเครื่องตรัสรู้, การตรัสรู้, การบรรลุธรรม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โพชฺฌ” ว่า a matter to be known or understood, subject of knowledge or understanding (เรื่องที่จะต้องรู้หรือต้องเข้าใจ, ธรรมอันเป็นที่รู้หรือเข้าใจ)
(ข) “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย”
“องฺค” ในบาลีหมายถึง –
(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)
(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)
(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)
สมฺโพชฺฌ + องฺค = สมฺโพชฺฌงฺค > สัมโพชฌงค์ แปลว่า “ธรรมอันเป็นองค์แห่งการรู้พร้อม” (คือเมื่อปฏิบัติตามแล้วสามารถตรัสรู้ได้)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมฺโพชฺฌงฺค” ว่า constituent of Sambodhi (enlightenment), of which there are seven (องค์แห่งสัมโพธิ [การตรัสรู้พร้อม] ซึ่งมี 7 อย่าง)
ธมฺมวิจย + สมฺโพชฺฌงฺค = ธมฺมวิจยสมฺโพชฺฌงฺค (ทำ-มะ-วิ-จะ-ยะ-สำ-โพด-ชัง-คะ) > ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ทำ-มะ-วิ-จะ-ยะ-สำ-โพด-ชง) แปลว่า “ธรรมอันเป็นองค์แห่งการรู้พร้อมคือการเลือกเฟ้นธรรม”
ขยายความ :
คำว่า “โพชฌงค์” เมื่อนำเอาชื่อธรรมแต่ละข้อมาเรียกรวมกัน นิยมใช้เป็น “สัมโพชฌงค์” โดยมีชื่อธรรมข้อนั้นๆ นำหน้า เช่นในที่นี้คือ “ธัมมวิจย” ชื่อข้อธรรมเต็มๆ ก็จะเป็น “ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์”
“ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์” เป็นโพชฌงค์ข้อที่ 2 ในโพชฌงค์ 7
เมื่ออธิบายความหมายของธรรมหมวดนี้ คำหลักก็คือคำว่า “โพชฌงค์”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“โพชฌงค์ : ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มี ๗ ข้อ คือ ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ (การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม) ๓. วิริยะ ๔. ปีติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โพชฌงค์ : (คำนาม) องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ มี ๗ ประการ; ชื่อพระปริตรที่พระสงฆ์สวดให้คนเจ็บหนักฟัง เรียกว่า สวดโพชฌงค์. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [281] แสดงความหมายของ “โพชฌงค์” ไว้ดังนี้ –
(ภาษาอังกฤษในวงเล็บ [] เป็นคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงไว้เพื่อเปรียบเทียบ)
…………..
โพชฌงค์ 7 (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ — Bojjhaŋga: enlightenment factors) [a factor or constituent of knowledge or wisdom]
…………..
และแสดงความหมายของ “ธัมมวิจยะ” ในโพชฌงค์ 7 ไว้ดังนี้ –
…………..
2. ธัมมวิจยะ (ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่องสืบค้นธรรม — Dhammavicaya: truth investigation)
…………..
อภิปราย :
เชื่อกันว่าการวิจัยจะช่วยให้มนุษย์คนพบวิธีสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อันจะอำนวยความสุขความเจริญให้แก่โลก
แต่งานวิจัยที่ทำกันมาเป็นเรื่องวิจัยออกไปนอกตัวเองทั้งสิ้น
งานวิจัยสำคัญที่สุด แต่นักวิจัยทั้งหลายมองข้ามไปก็คือ วิจัยเข้ามาในชีวิตจิตใจของตัวผู้วิจัยเอง
งานวิจัยประเภทนี้น่าจะยังไม่เคยปรากฏในวงการวิจัยไม่ว่าจะในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ
…………..
แถม :
การที่นิยมให้พระสงฆ์สวด “โพชฌงค์” ให้คนเจ็บหนักฟังก็เพราะโพชฌังคสูตรในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องราวไว้ว่า บางสมัย พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกบางองค์อาพาธ เมื่อได้สดับการสวดโพชฌงค์ อาพาธหรือการเจ็บป่วยนั้นก็บรรเทาหายไป จึงเกิดเป็นความนิยมให้พระสงฆ์สวดให้คนเจ็บหนักฟังสืบต่อมา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: วิจัยจนรู้ทุกเรื่อง เป็นคนเก่ง
: วิจัยจนรู้จักตัวเอง เป็นบัณฑิต
#บาลีวันละคำ (3,844)
21-12-65
…………………………….
……………………………