เหมายัน (บาลีวันละคำ 3,845)
เหมายัน
วันที่ 22 ธันวาคม
แยกศัพท์เป็น เหม + อายัน
(๑) “เหม”
อ่านว่า เห-มะ รูปคำเดิมเป็น “หิม” อ่านว่า หิ-มะ รากศัพท์มาจาก หิ (ธาตุ = เบียดเบียน; เป็นไป; ตกไป) + อิม ปัจจัย
: หิ + อิม = หิม (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เบียดเบียนด้วยความเย็น” (2) “สิ่งที่เป็นไปตามปกติ” คือถึงเวลามีหิมะ หิมะก็มีตามปกติ จึงเรียกว่า “สิ่งที่เป็นไปตามปกติ” (3) “สิ่งที่ตกบนแผ่นดินและภูเขา”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หิม” ว่า –
(1) เป็นคุณศัพท์: cold, frosty (หนาว, มีน้ำค้างแข็ง)
(2) เป็นคำนาม: ice, snow (น้ำแข็ง, หิมะ)
“หิม” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “หิมะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หิม-, หิมะ : (คำนาม) ละอองนํ้าในอากาศที่แปรสภาพเป็นของแข็งเพราะอุณหภูมิตํ่า ลักษณะฟูเป็นปุย ลอยลงมาจากท้องฟ้า; ความหนาว, ความเยือกเย็น; ฤดูหนาว. (ป., ส.).”
(๒) “อายัน”
บาลีเป็น “อายน” อ่านว่า อา-ยะ-นะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + อิ (ธาตุ = ไป), แผลง อิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (อิ >เอ > อย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อา + อิ > เอ > อย = อาย + ยุ > อน = อายน แปลตามศัพท์ว่า “การมาถึง”
หมายเหตุ: อา คำอุปสรรค ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” + อิ ธาตุ =ไป กลับความจาก “ไป” > “มา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำว่า “อายน” แต่มีคำว่า “อายาน” บอกไว้ดังนี้ –
“อายาน : (คำนาม) อารมณ์; การมา, การมาถึง; the natural temperament or disposition; coming, arrival.”
หิม + อายน แผลง อิ ที่ หิ- เป็น เอ (หิม >เหม)
: หิม + อายน = หิมายน (หิ-มา-ยะ-นะ) > เหมายน (เห-มา-ยะ-นะ) แปลว่า “การมาถึงแห่งหิมะ”
“เหมายน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เหมายัน” อ่านว่า เห-มา-ยัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เหมายัน : (คำในดาราศาสตร์) (คำนาม) จุดสุดทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์ปรากฏในราววันที่ ๒๒ ธันวาคม เป็นจุดในหน้าหนาว มีกลางคืนยาวที่สุด เรียกว่า เหมายัน (winter solstice), คู่กับ ครีษมายัน, ทักษิณายัน ก็เรียก. (ป., ส. หิม + ส. อายน).”
ขยายความ :
พจนานุกรมฯ บอกว่า “เหมายัน” คำอังกฤษว่า winter solstice
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล winter solstice เป็นบาลีว่า:
dakkhiṇāyana ทกฺขิณายน (ทัก-ขิ-นา-ยะ-นะ) = การไปทางทิศใต้, การมาทางทิศใต้
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี มีคำว่า summer solstice อีกคำหนึ่ง แปลเป็นบาลีว่า:
uttarāyana อุตฺตรายน (อุด-ตะ-รา-ยะ-นะ) = การไปทางทิศเหนือ, การมาทางทิศเหนือ
“เหมายัน” เกิดขึ้นในฤดูหนาว การโคจรของดวงอาทิตย์ในฤดูหนาวคนไทยมีคำเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว”
ควรเข้าใจว่า “เหมายัน” มีวันเดียว คือวันที่ 22 ธันวาคม (ตามพจนานุกรมฯ) แต่ “ตะวันอ้อมข้าว” ไม่ได้มีวันเดียว แต่มีเกือบตลอดฤดูหนาว
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ตะวันอ้อมข้าว : (คำนาม) ลักษณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โคจรอ้อมลงสู่ขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว, ที่เรียกเช่นนั้น เพราะเชื่อว่าตะวันเลี่ยงไม่ให้ความร้อนเผารวงข้าวที่กำลังสุก และเวลาเก็บเกี่ยวก็ไม่ร้อนมากนัก.”
อภิปราย :
คำว่า “เหมายัน” นี้ เคยได้ยินคนอ่านด้วยความเข้าใจผิดว่า เหฺมา-ยัน คืออ่าน “เหมา-” เหมือนคำว่า “เหมา” ในภาษาไทย
คำว่า “เหมา” ในภาษาไทย ห เป็นอักษรนำ ไม่ออกเสียง แต่ทำให้อักษรตามต้องออกเสียงสูง คำไทยว่า “เหมา” นี้ ม เป็นอักษรต่ำ พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ คือ มอ (เทียบกับอักษรสูง เช่น ส เสือ พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา คือ สอ : มอ – สอ ระดับเสียงต่างกัน) แต่เมื่อมี ห นำ เป็น หม- ม ต้องออกเสียงสูง ไปผสมกับสระอะไรก็ต้องออกเสียงสูงทุกสระ
ถ้าลองเอาเสียงอักษรกลางผันได้ 5 เสียงเป็นแนวเทียบ จะเห็นได้ชัด เช่น –
เตา > เต่า > เต้า > เต๊า > เต๋า
เมา > เหม่า > เม่า > เม้า > เหมา
นี่คือ หฺม + เ-า = เหมา คำไทย
คำว่า “เหมา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เหมา ๑ : (คำกริยา) คิดเป็นจํานวนรวม เช่น รับเหมา เหมาผลไม้ทั้งเข่ง; หาความ เช่น อย่าเหมาว่าฉันผิดคนเดียว.”
ครั้นพอมาถึงคำว่า “เหมายัน” (เห-มา-ยัน = การมาถึงแห่งหิมะ) คนที่ไม่รู้ความหมาย เห็นรูปคำ “เหมา-” ก็เข้าใจว่าเป็นคำเดียวกับ “เหมา” ในภาษาไทย จึงอ่านว่า เหฺมา-ยัน
แต่ก็มีท่านอีกจำพวกหนึ่ง รู้ที่มา รู้ความหมาย และรู้คำอ่านทุกประการ แต่เอาคำว่า “เหมายัน” ไปอ่านเล่นเป็นคำคะนองว่า เหฺมา-ยัน แบบเดียวกับ “เหมา” ในภาษาไทย และมองกันว่าเป็นเรื่องเล่นสนุก ไม่จริงจังอะไร
มองตรงจุดนี้ จะเห็นว่า เรามีคนที่มีความรู้ภาษาอยู่มากพอสมควร ถ้าเอาความรู้ไปเล่นสนุกด้วย แล้วก็ช่วยกันเอาไปใช้ในเรื่องที่เป็นสาระยิ่งขึ้นอีกด้วย ก็จะเป็นการดีนักหนา
…………..
22 ธันวาคม วันเหมายัน (เห-มา-ยัน)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อ่านหนังสือไม่ออก ก็ปฏิบัติธรรมได้
: แต่ปฏิบัติธรรมได้ด้วย อ่านออกด้วย ก็ยิ่งดี
#บาลีวันละคำ (3,845)
22-12-65
…………………………….
……………………………