บาลีวันละคำ

ปรัตถปฏิบัติ (บาลีวันละคำ 3,859)

ปรัตถปฏิบัติ

คนน้ำใจอัตคัดทำไม่ได้

อ่านว่า ปะ-รัด-ถะ-ปะ-ติ-บัด

ประกอบด้วยคำว่า ปรัตถ + ปฏิบัติ

(๑) “ปรัตถ”

อ่านว่า ปะ-รัด-ถะ แยกศัพท์เป็น ปร + อัตถ

(ก) “ปร” บาลีอ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก ป (แทนศัพท์ หึสา = เบียดเบียน) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ

: ป + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” หมายถึง –

(1) อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (another, other)

(2) ศัตรู, ปรปักษ์ (enemies, opponents)

ในภาษาไทยใช้ว่า “ปร-” เหมือนบาลี (ขีดท้ายคำบ่งว่าใช้นำหน้าคำอื่น ไม่ใช้เดี่ยวๆ) อ่านว่า ปะ-ระ- และ ปอ-ระ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ปร- : (คำวิเศษณ์) อื่น, ใช้เป็นบทหน้าสมาส เช่น ปรปักษ์ ปรโลก. (ป.).”

(ข) “อัตถ” เขียนแบบบาลีเป็น “อตฺถ” อ่านว่า อัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (อ)-รฺ เป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)

: อรฺ + ถ = อรถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ”

(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง ส ที่ (อ)-สฺ เป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)

: อสฺ + ถ = อสถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”

(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย

: อตฺถ + อ = อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”

“อตฺถ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลายอย่าง เช่น –

(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ, ความดี (ทางศีลธรรม), พร, สวัสดิภาพ, ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; (moral) good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)

(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา (need, want)

(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import, denotation, signification)

(4) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)

“อตฺถ” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อรรถ, อรรถ- : (คำนาม) เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).”

ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีเป็น “อัตถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อัตถ-, อัตถ์, อัตถะ : (คำนาม) เนื้อความ, ประโยชน์, ความต้องการ. (ป. อตฺถ; ส. อรฺถ).”

ปร + อตฺถ = ปรตฺถ (ปะ-รัด-ถะ) แปลว่า “ประโยชน์ของผู้อื่น”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปรตฺถ” ว่า the profit or welfare of another (ผลกำไรหรือสวัสดิภาพของคนอื่น)

“ปรตฺถ” ถ้าอยู่คำเดียว ในภาษาไทยเขียนเป็น“ปรัตถะ”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ปรัตถะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปรัตถะ : ประโยชน์ผู้อื่น, ประโยชน์เพื่อคนอื่น อันพึงบำเพ็ญด้วยการช่วยให้เขาเป็นอยู่ด้วยดี พึ่งตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือสัมปรายิกัตถะ หรือปรมัตถะ ก็ตาม.

…………..

(๒) “ปฏิบัติ”

เขียนแบบบาลีเป็น “ปฏิปตฺติ” อ่านว่า ปะ-ติ-ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุเป็น ตฺ (ปทฺ > ปตฺ)

: ปฏิ + ปทฺ = ปฏิปทฺ + ติ = ปฏิปทฺติ > ปฏิปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงเฉพาะ” “ที่ไปเฉพาะ” หมายถึง ทาง, วิธี, การปฏิบัติ, วิธีปฏิบัติ, การกระทำ, พฤติการณ์หรือความประพฤติ, ตัวอย่าง (way, method, conduct, practice, performance, behaviour, example)

“ปฏิปตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “ปฏิบัติ” (ตัด ต ออกตัวหนึ่ง และแผลง ป ปลา เป็น บ ใบไม้) อ่านว่า ปะ-ติ-บัด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

“ปฏิบัติ : (คำกริยา) ดําเนินการไปตามระเบียบแบบแผน เช่น ปฏิบัติราชการ, กระทําเพื่อให้เกิดความชํานาญ เช่น ภาคปฏิบัติ; กระทําตาม เช่น ปฏิบัติตามสัญญา; ประพฤติ เช่น ปฏิบัติสมณธรรม ปฏิบัติต่อกัน; ปรนนิบัติรับใช้ เช่น ปฏิบัติบิดามารดา ปฏิบัติครูบาอาจารย์. (ป. ปฏิปตฺติ).”

ปรตฺถ + ปฏิปตฺติ = ปรตฺถปฏิปตฺติ (ปะ-รัด-ถะ-ปะ-ติ-ปัด-ติ) แปลว่า “การปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น”

“ปรตฺถปฏิปตฺติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปรัตถปฏิบัติ” อ่านว่า ปะ-รัด-ถะ-ปะ-ติ-บัด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ปรัตถปฏิบัติ” ไว้ แต่มีคำว่า “ปรัตถจริยา” บอกไว้ว่า –

“ปรัตถจริยา : (คำนาม) ความประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น. (ป.).”

จะเห็นได้ว่า “ปรัตถปฏิบัติ” กับ “ปรัตถจริยา” มีความหมายอย่างเดียวกัน

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ปรัตถปฏิบัติ” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปรัตถปฏิบัติ : การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นพุทธคุณอย่างหนึ่ง คือการทรงบำเพ็ญพุทธกิจเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นที่พึ่งของชาวโลก (โลกนาถ) ซึ่งสำเร็จด้วยพระมหากรุณาคุณเป็นสำคัญ มักเขียนเป็น ปรหิตปฏิบัติ ซึ่งแปลเหมือนกัน; เป็นคู่กันกับ อัตตัตถสมบัติ หรือ อัตตหิตสมบัติ

…………..

สรุปความว่า “ปรัตถปฏิบัติ” ก็คือ เมื่อผู้ที่ตั้งใจจะบำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนร่วมโลกได้เพิ่มพูนสั่งสม “อัตตัตถสมบัติ” อันเป็นการเตรียมตัวที่จะบำเพ็ญประโยชน์ไว้พร้อมแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติการด้วยการบำเพ็ญ “ปรัตถปฏิบัติ” คือลงมือช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป

ไม่ใช่ว่าตัวเองมีพร้อมทุกอย่าง แต่ไม่คิดจะช่วยเหลือใคร

…………..

ดูเพิ่มเติม: “อัตตัตถสมบัติ” บาลีวันละคำ (3,858) 4-1-66

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ให้ เบา

: เอา หนัก

#บาลีวันละคำ (3,859)

06-01-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *