บาลีวันละคำ

ตโปทาราม (บาลีวันละคำ 3,860)

ตโปทาราม

บ่อน้ำพุร้อน = ตโปทา

สวนซึ่งอยู่ใกล้บ่อน้ำพุร้อน = ตโปทาราม

อ่านว่า ตะ-โป-ทา-ราม

ประกอบด้วยคำว่า ตโปทา + อาราม

(๑) “ตโปทา”

อ่านว่า ตะ-โป-ทา รากศัพท์มาจาก ตโป + ทา

(ก) “ตโป” รูปคำเดิมเป็น “ตป” อ่านว่า ตะ-ปะ รากศัพท์มาจาก ตปฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ร้อน) + อ (อะ) ปัจจัย

: ตปฺ + อ = ตป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “การทำให้กายเดือดร้อน” (2) “ธรรมที่เผาบาป” (3) “ธรรมที่ยังกิเลสให้ร้อน” (4) “ข้อปฏิบัติที่ยังตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนในนรก” (ความหมายข้อนี้เป็นทัศนะของพระพุทธศาสนาที่มองการบำเพ็ญตบะแบบผิดๆ ของเจ้าลัทธิต่างๆ)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตป” ว่า –

(1) torment, punishment, penance, esp. religious austerity, self-chastisement, ascetic practice (การทรมาน, การลงโทษ, การทรมานตน, โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทรมานตนทางศาสนา, การลงโทษตัวเอง, การปฏิบัติของนักพรต)

(2) mental devotion, self-control, abstinence, practice of morality (การภาวนาทางใจ, การควบคุมตัวเอง, การละเว้น, การปฏิบัติศีลธรรม)

บาลี “ตป” รูปหนึ่งของสันสกฤตก็เป็น “ตป”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ตป : (คำนาม) ‘ตะบะ,’ ฤดูร้อน; ความร้อน; แดด, อาทิตย์; summer, the hot season; heat; the sun.”

แต่สันสกฤตยังมี “ตปสฺ” อีกรูปหนึ่ง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ตปสฺ : (คำนาม) ‘ตบัส,’ ชื่อเดือนมาฆะ; ฤดูหนาว; ฤดูร้อน; การประติบัทเคร่งครัดตามลัทธิศาสนา; การหัดระงับใจหรือกาย; โลกอันเปนที่อาศรัยของบุณยชนหรือดาบสเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว (โลกที่กล่าวถึงนี้ตั้งอยู่เหนือชนโลก); สทาจาร, สาธุคุณ; ธรรม, กฤตย์; การประติบัทฉะเพาะ, ปรากฤตว่า-น่าที่ (ดุจ-ตบัสของพราหมณ์ ได้แก่ บุณยศึกษาหรือการเล่าเรียนพระเวทที่ศักดิ์สิทธิ์; ตบัสของกษัตริย์ ได้แก่ การคุ้มครองรักษาไพร่ฟ้าประชาชน; ตบัสของไวศย ได้แก่ การทำบุณย์ให้ทานแก่พราหมณ์; ตบัสของศูทร ได้แก่ การรับใช้คนร่วมชาติกัน; ตบัสของฤษิหรือมุนิ ได้แก่ การกินผักและภักษมูลเปนอาหาร); the name of the month Māgha; winter or the cold season; summer or the hot season; religious austerity; the practice of mental or personal self-denial; the world of the saints or devotees, said to be inhabited by them after death (this world is situated above the Janaloka); virtue, moral merit; duty, the special observance of certain things (such as-the tapas of a Brahman is sacred learning; that of a Kshatriya, the protection of subjects; that of a Viśya, alms-giving to Brahmans; that of a Śudra, the service of the same tribe; and that of a Rishi or saint, feeding upon herbs and roots).”

“ตป” ในภาษาไทยใช้ว่า “ตบะ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ตบะ : (คำนาม) พิธีข่มกิเลสโดยทรมานตัว เช่น ฤๅษีบำเพ็ญตบะ; การบำเพ็ญเพื่อให้กิเลสเบาบางหรือการข่มกิเลส, ธรรมข้อที่ ๖ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม). (ป., ส. ตป ว่า ความเพียรเครื่องเผาผลาญกิเลส).”

ในที่นี้ “ตป” ใช้ในความหมายว่า ความร้อน

(ข) ตป + ทา (ธาตุ = ให้) + อ (อะ) ปัจจัย

: ตปฺ + ทา = ตโปฺทา + อ = ตโปท (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “-ที่ให้ความร้อน”

หลักภาษา :

(๑) “ตป” เป็นศัพท์ในชุดที่เรียกว่า “มโนคณะ” หนังสือบาลีไวยากรณ์ วจีวิภาคที่ 2 นามและอัพพยศัพท์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนที่ว่าด้วย “ศัพท์ชื่อมโนคณะ” กล่าวไว้ว่า “มโนคณะ” มี 12 ศัพท์ คือ –

(1) มน = ใจ

(2) อย = เหล็ก

(3) อุร = อก

(4) เจต = ใจ

(5) ตป = ความร้อน

(6) ตม = มืด

(7) เตช = เดช

(8 ) ปย = น้ำนม

(9) ยส = ยศ

(10) วจ = วาจา

(11) วย = วัย

(12) สิร = หัว

(๒) ศัพท์ชื่อมโนคณะมีกฎว่า เมื่อเป็นส่วนหน้าของคำสมาส ให้แปลง อะ ที่สุดศัพท์เป็น โอ เช่น มน + ภาพ แทนที่จะเป็น “มนภาพ” ท่านให้แปลง อะ ที่ (ม)-น เป็น โอ (มน > มโน) จึงเป็น “มโนภาพ” ดังนี้เป็นต้น

“ตป” เป็นศัพท์หนึ่งใน “มโนคณะ” จึงใช้หลักการดังกล่าว ดังนั้น ตป + ทา แทนที่จะเป็น “ตปทา” จึงเป็น “ตโปทา”

(๔) “ตโปทา” รูปคำเดิมเป็น “ตโปท” ที่เป็น “ตโปทา” เนื่องจากเป็นชื่อของบ่อน้ำหรือแหล่งน้ำซึ่งใช้คำบาลีว่า “นที” (นที เรามักแปลกันว่า แม่น้ำ) “นที” เป็นอิตถีลิงค์ “ตโปท” จึงต้องเปลี่ยนรูปตามเป็น “ตโปทา” พูดควบกันก็จะเป็น “ตโปทา นที”

(๒) “อาราม”

บาลีอ่านว่า อา-รา-มะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ร-(มฺ) เป็น อา (รมฺ > ราม)

: อา + รมฺ = อารมฺ + ณ = อารมณ > อารม > อาราม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มายินดี”

“อาราม” (ปุงลิงค์) ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) คำนาม : สถานที่อันน่ารื่นรมย์, สวน, อุทยาน (a pleasure-ground, park, garden)

(2) คำนาม : ความยินดี, ความชอบใจ, ความรื่นรมย์ (pleasure, fondness of, delight)

(3) คำคุณศัพท์ : ชอบใจ, เพลิดเพลิน, สบอารมณ์ (delighting in, enjoying, finding pleasure in)

นักบวชสมัยพุทธกาลพอใจที่จะพักอาศัยอยู่ตามป่าไม้ซึ่งปกติเป็นที่ร่มรื่น อันเป็นความหมายของ “อาราม” ดังนั้น คำว่า “อาราม” จึงหมายถึงสถานที่พักอาศัยของนักบวชด้วย

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อาราม ๑ : (คำนาม) วัด; สวนเป็นที่น่ารื่นรมย์. (ป., ส.).

(2) อาราม ๒ : (คำนาม) ความยินดี, ความรื่นรมย์, ความเพลิดเพลิน.

ในที่นี้ “อาราม” หมายถึง สวน

ตโปทา + อาราม = ตโปทาราม แปลว่า “สวนอันตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำตโปทา”

อภิปรายขยายความ :

“ตโปทา” ในคัมภีร์บอกว่าเป็น “นที” (แม่น้ำ) แต่ก็มีคำขยายว่าเป็น “รหท” (ระ-หะ-ทะ) และ “ทห” (ทะ-หะ) เราแปลกันว่า “ห้วงน้ำ” “รหท” มีคำแปลเป็นอังกฤษว่า pond และ lake

“ตโปทา” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เรียกว่า “บ่อน้ำพุร้อน” Dictionary of Palī proper names ของ G.P. Malalasekera เรียกว่า a large lake

ในพระไตรปิฎกมีพระพุทธพจน์ตรัสถึงเหตุที่ “ตโปทา” เป็นบ่อน้ำร้อนไว้ดังนี้

…………..

ยตายํ ภิกฺขเว ตโปทา สนฺทติ โส ทโห อจฺโฉทโก สีโตทโก สาโตทโก เสโตทโก สุปติตฺโถ รมณีโย ปหูตมจฺฉกจฺฉโป จกฺกมตฺตานิ จ ปทุมานิ ปุปฺผนฺติ อปิจายํ ภิกฺขเว ตโปทา ทฺวินฺนํ มหานิรยานํ อนฺตริกาย อาคจฺฉติ เตนายํ ตโปทา กุถิตา สนฺทติ ฯ

ที่มา: จตุตถปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 296

…………..

แปลดังนี้ –

ยตายํ ภิกฺขเว ตโปทา สนฺทติ โส ทโห อจฺโฉทโก สีโตทโก สาโตทโก เสโตทโก สุปติตฺโถ รมณีโย ปหูตมจฺฉกจฺฉโป

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำตโปทานี้ไหลมาแต่ห้วงน้ำใด ห้วงน้ำนั้นมีน้ำใส เย็น จืดสนิท สะอาดสะอ้าน มีท่าเรียบราบ น่ารื่นรมย์ มีปลาและเต่ามาก

จกฺกมตฺตานิ จ ปทุมานิ ปุปฺผนฺติ

อนึ่ง ดอกบัวประมาณเท่ากงเกวียนแย้มบานอยู่

อปิจายํ ภิกฺขเว ตโปทา ทฺวินฺนํ มหานิรยานํ อนฺตริกาย อาคจฺฉติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่แม่น้ำตโปทานี้ไหลผ่านมาในระหว่างมหานรกสองขุม

เตนายํ ตโปทา กุถิตา สนฺทติ

เพราะฉะนั้น แม่น้ำตโปทานี้จึงเดือดพล่านไหลไปอยู่

…………..

ส่วน “ตโปทาราม” Dictionary of Palī proper names ของ G.P. Malalasekera เรียกว่า a grove

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้

…………..

ตโปทาราม : สวนซึ่งอยู่ใกล้บ่อน้ำพุร้อนชื่อตโปทา ใกล้พระนครราชคฤห์ เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเคยทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์.

…………..

“ตโปทาราม” เดิมคงเป็นสวนธรรมดา แต่ต่อมาทางบ้านเมืองคงถวายให้เป็นที่พำนักของพระสงฆ์ จึงมีสถานะเหมือนวัด

ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงเหตุการณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ “ตโปทาราม” ไว้หลายแห่ง ผู้สนใจ-โดยเฉพาะนักเรียนบาลี-พึงศึกษาดูเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ว่านรกจะมีหรือไม่มี

: ท่านก็ขาดทุนทันทีที่ทำชั่ว

——————–

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (3,858)

07-01-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *