บาลีวันละคำ

เทวธรรม (บาลีวันละคำ 3,871)

เทวธรรม

คำที่ควรจะเขียนตั้งนานแล้ว

อ่านว่า เท-วะ-ทำ

ประกอบด้วยคำว่า เทว + ธรรม

(๑) “เทว

บาลีอ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว

: ทิวฺ + = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ” 

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา 

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน) 

ในที่นี้ “เทว” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) คือเทวดาหรือเทพเจ้า 

เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแปลง เป็น ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น – 

วร > พร 

วิวิธ > พิพิธ 

: เทว > เทพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เทพ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ – 

(1) เทพ ๑, เทพ– : (คำนาม) เทวดา. (ป., ส. เทว).

(2) เทพ ๒ : (คำนาม) คำนำหน้าชื่อเพลงไทย เช่น เทพทอง เทพชาตรี เทพบรรทม เทพนิมิต เทพรัญจวน.

(3) เทพ ๓ : (คำนาม) สมณศักดิ์พระราชาคณะสูงกว่าชั้นราช ตํ่ากว่าชั้นธรรม เรียกว่า ชั้นเทพ เช่น พระเทพโมลี.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “เทพ” ไว้ดังนี้ –

…………..

เทพ : เทพเจ้า, ชาวสวรรค์, เทวดา; ในทางพระศาสนา ท่านจัดเป็น ๓ คือ 

๑. สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ = พระราชา, พระเทวี พระราชกุมาร 

๒. อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด = เทวดาในสวรรค์และพรหมทั้งหลาย

๓. วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ = พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

ในที่นี้ “เทว” ไม่แปลง เป็น แต่คงรูปเป็น “เทว

(๒) “ธรรม” 

บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ธรรม” ความหมายเน้นหนักตามข้อ (2) 

เทว + ธมฺม = เทวธมฺม (เท-วะ-ทำ-มะ) > เทวธรรม (เท-วะ-ทำ) แปลว่า “ธรรมของเทวดา” “ธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “เทวธรรม” ไว้ดังนี้ –

…………..

เทวธรรม : ธรรมของเทวดา, ธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา หมายถึงธรรม ๒ อย่าง คือ หิริ ความละอายแก่ใจ คือ ละอายต่อความชั่ว และ โอตตัปปะ ความกลัวบาป คือ เกรงกลัวต่อความชั่ว.

…………..

ขยายความ :

ที่มาของ “เทวธรรม” มีแสดงไว้ใน “เทวธัมมชาดก” เรื่องย่อว่า –

…………..

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี นามว่ามหิสสาสกุมาร มีพระอนุชาร่วมพระมารดา 1 พระองค์ นามว่าจันทกุมาร พระมารดาทิวงคต พระราชบิดาได้พระเมหสีองค์ใหม่ ประสูติพระโอรส 1 พระองค์ นามว่าสุริยกุมาร 

พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงปราโมทย์ประทานพรแก่พระเมหสีองค์ใหม่ พระมเหสีทูลขอราชสมบัติให้พระโอรสของพระนาง ท้าวเธอจะไม่อนุญาตก็เกรงว่าพระโอรสของพระองค์จะถูกพระมเหสีทำร้าย จึงรับสั่งให้มหิสสสาสกุมารกับจันทกุมารออกพเนจรไปกลางป่าชั่วคราว สองกุมารจึงพากันออกไป สุริยกุมารเห็นเชษฐาออกเลยตามไปด้วย

ถึงกลางป่าแห่งหนึ่ง มหิสสาสกุมารใช้ให้สุริยกุมารไปเอาน้ำในสระ ถูกยักษ์ผีเสื้อน้ำซักถามเทวธรรม ตอบไม่ได้ ก็ถูกมันจับไว้ จันทกุมารไปอีกก็ถูกมันจับไว้เหมือนกัน

มหิสสาสกุมารเห็นสองกุมารหายไป จึงออกไปตาม รู้ว่ายักษ์ต้องการฟังเทวธรรม จึงแสดงเทวธรรมให้ยักษ์ฟังว่า:-

หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา

สุกฺกธมฺมสมาหิตา

สนฺโต สปฺปุริสา โลเก

เทวธมฺมาติ วุจฺจเร ฯ

สัตบุรุษทั้งหลายในโลก

ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ

มั่นคงในธรรมขาว สงบแล้ว

บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีเทวธรรม

ยักษ์ได้ฟังแล้วเลื่อมใส ช่วยบำรุงรักษากุมารทั้งสามอยู่ในป่านั้นเป็นอันดี มหิสสาสกุมารสั่งสอนให้ยักษ์ดำรงอยู่ในธรรม

เมื่อพระกรุงพาราณสีสวรรคต กุมารทั้งสามก็กลับเข้าเมือง พายักษ์มาอยู่ในเมืองด้วย มหิสสาสกุมารเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้ากรุงพารณสี สถาปนาจันทกุมารเป็นพระอุปราช สุริยกุมารเป็นเสนาบดี

ที่มา: 

เทวธรรมชาดก เอกนิบาตชาดก พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 6

ชาตกัฏฐกถา ภาค 1 หน้า 227-239

…………..

เทวธรรม” นี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โลกปาลธรรม” แปลว่า “ธรรมคุ้นครองโลก

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [23] แสดงไว้ดังนี้ –

…………..

ธรรมคุ้มครองโลก 2 (ธรรมที่ช่วยให้โลกมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เดือดร้อนและสับสนวุ่นวาย — Lokapāla-dhamma: virtues that protect the world)

1. หิริ (ความละอายบาป, ละอายใจต่อการทำความชั่ว — Hiri: moral shame; conscience)

2. โอตตัปปะ (ความกลัวบาป, เกรงกลัวต่อความชั่ว — Ottappa: moral dread)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าอยากมีธรรมไว้คุ้มครองโลก

: ก็ต้องมีชาวโลกที่ช่วยกันคุ้มครองธรรม

#บาลีวันละคำ (3,871)

17-1-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *