เคารพอภิวันท์ (บาลีวันละคำ 3,870)
เคารพอภิวันท์
เคารพอภิวันท์
บันทึกไว้เพื่อมิให้สูญ
อ่านว่า เคา-รบ-อบ-พิ-วัน
(อ่านอย่างนี้เฉพาะในคำนี้)
ประกอบด้วยคำว่า เคารพ + อภิวันท์
(๑) “เคารพ”
เทียบกลับเป็นบาลี ได้แก่คำว่า “คารว” อ่านว่า คา-ระ-วะ รากศัพท์มาจาก ครุ + ณ ปัจจัย
(ก) “ครุ” (คะ-รุ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป; ลอยขึ้น) + อุ ปัจจัย
: ครฺ + อุ = ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เลื่อนไหลกว้างขวางไป” (2) “ผู้ลอยเด่น”
(2) คิรฺ (ธาตุ = คาย, หลั่ง) + อุ ปัจจัย, ลบสระต้นธาตุ (คิรฺ > ครฺ)
: คิรฺ + อุ = คิรุ > ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้คายความรักให้หมู่ศิษย์” (2) “ผู้หลั่งความรักไปในหมู่ศิษย์”
“ครุ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) หนัก, น้ำหนักบรรทุก (heavy, a load)
(2) สำคัญ, ควรเคารพ, พึงเคารพ (important, venerable, reverend)
(3) คนที่ควรนับถือ, ครู (a venerable person, a teacher)
(ข) ครุ + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ (ค)-รุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ครุ > คโร > ครว), ทีฆะ อะ ที่ต้นศัพท์ คือ ค-(รว) เป็น อา ด้วยอำนาจ ณ ปัจจัย (ครว > คารว)
: ครุ + ณ = ครุณ > ครุ > คโร > ครว > คารว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งครุ” หมายถึง การคารวะ, ความเคารพ, ความนับถือ (reverence, respect, esteem); ความยำเกรง, ความนอบน้อม (respect for, reverence towards)
ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คารวะ : (คำนาม) ความเคารพ, ความนับถือ. (คำกริยา) แสดงความเคารพ. (ป.).”
บาลี “คารว” สันสกฤตเป็น “เคารว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“เคารว : (คำนาม) ‘เคารพ,’ กีรติหรือเกียรติ; ความนับถือ; น้ำหนัก, ความหนัก; reputation; respectability: physical weight, heaviness.”
ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤต (แผลง ว เป็น พ) เป็น “เคารพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เคารพ : (คำกริยา) แสดงอาการนับถือ เช่น เคารพผู้ใหญ่ เคารพธงชาติ; ไม่ล่วงเกิน, ไม่ล่วงละเมิด, เช่น เคารพสิทธิของผู้อื่น. (ส. เคารว; ป. คารว).”
(๒) “อภิวันท์”
เขียนแบบบาลีเป็น “อภิวนฺท” ถ้าใช้เป็นคำนาม ในบาลีพบแต่ที่เป็น “อภิวนฺทน” อ่านว่า อะ-พิ-วัน-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, เหนือ) + วนฺทฺ (ธาตุ = ไหว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อภิ + วนฺทฺ = อภิวนฺทฺ + ยุ > อน = อภิวนฺทน แปลตามศัพท์ว่า “วิธีเป็นเครื่องไหว้อย่างยิ่ง” หมายถึง การสดุดี, การเคารพ, การไหว้; การยกย่อง, การบูชา (salutation, respect, paying homage; veneration, adoration)
“อภิวนฺทน” เขียนแบบไทยเป็น “อภิวันทน์” อ่านว่า อะ-พิ-วัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “อภิวันทน์” แต่เก็บคำว่า “อภิวันท์” บอกไว้ดังนี้ –
“อภิวันท์ : (คำกริยา) กราบไหว้. (ส., ป.).”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกคำอ่าน แต่เมื่อว่าตามหลัก คำนี้ต้องอ่านว่า อะ-พิ-วัน
ขยายความ :
คำว่า “เคารพ” กับคำว่า “อภิวันท์” โดยปกติไม่ใช่คำที่ใช้ควบกัน แต่มีใช้ควบกันอยู่แห่งหนึ่งในคำไหว้ครูตอนที่ว่า –
…………..
๏ ข้าฯขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์
ด้วยใจนิยมบูชา
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้รับการถ่ายทอดมาจากครูบาอาจารย์ว่า คำว่า “เคารพอภิวันท์” ในคำไหว้ครูนี้ ต้องอ่านว่า เคา-รบ-อบ-พิ-วัน
นั่นคือ คำว่า “อภิวันท์” ในที่ทั่วไปอ่านว่า อะ-พิ-วัน แต่เฉพาะในคำไหว้ครูนี้ ใช้ควบกับ “เคารพ” เป็น “เคารพอภิวันท์” ต้องอ่านว่า -อบ-พิ-วัน ไม่ใช่ อะ-พิ-วัน ทั้งนี้เพื่อให้ได้เสียงที่รับสัมผัสกับคำว่า “เคารพ” (-รบ-อบ-)
หรืออาจตั้งเป็นสูตรว่า ในบทกลอนบางแห่ง “อภิวันท์” อ่านว่า อบ-พิ-วัน
ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่แน่ใจว่า เด็กไทยรุ่นใหม่ได้รับการถ่ายทอดเรื่องนี้กันบ้างหรือไม่ จึงขอนำมาบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อไม่ให้หลักวิชานี้สูญไป
…………..
คำไหว้ครูที่ใช้อยู่ในโรงเรียนต่างๆ มีข้อความเป็นร้อยกรองภาษาไทยดังนี้
…………..
๏ ข้าฯขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์
ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา
๏ ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา
แก่ข้าฯในกาลปัจจุบัน
๏ ข้าฯขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์
ด้วยใจนิยมบูชา
๏ ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา
ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
๏ ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี
๏ ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี
แก่ข้าฯและประเทศไทย เทอญ๚ะ๛
…………..
หมายเหตุ: ขอแรงญาติมิตรผู้อ่าน “บาลีวันละคำ” ช่วยสืบค้นหลักฐานจากต้นฉบับคำไหว้ครูตัวจริง (ไม่ใช่จากข้อความที่เอามาเผยแพร่กัน) ดังนี้ –
(1) คำว่า “ข้าฯ” มีไปยาลน้อยหรือไม่ (ข้าฯ/ข้า)
(2) ถ้ามี คำต่อมาต้องเว้นวรรคหรือติดกันกับเครื่องหมายไปยาลน้อย (ข้าฯขอ/ข้าฯ ขอ)
(3) บทสุดท้าย “แก่ข้าฯและประเทศไทย” หรือ “แก่ชาติและประเทศไทย”
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้คำไหว้ครูผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ
…………..
แถม :
ผู้แต่ง คำไหว้ครูภาษาไทย คือ ท่านผู้หญิง ดุษฎีมาลา มาลากุล แต่งในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
(คำประพันธ์และข้อมูล จากโพสต์ของ Thongbai Dhirananandankura โพสต์ 16 มกราคม 2566)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สัตว์มันไม่มีครู
: คนไม่รู้คุณครูก็เท่ากับสัตว์
#บาลีวันละคำ (3,870)
16-01-66
…………………………….
……………………………