อโหสิกรรม [2] (บาลีวันละคำ 1,686)
อโหสิกรรม [2]
ขอได้ แต่ให้ไม่ได้
อ่านว่า อะ-โห-สิ-กำ
ประกอบด้วย อโหสิ + กรรม
(๑) “อโหสิ”
เป็นรูปคำกริยา (กิริยาอาขยาต) ในภาษาบาลี รากศัพท์มาจาก อ (อาคมหน้าธาตุ บังคับให้แปลว่า “ได้-” ก่อนจะแปลตัวธาตุ) + หุ (ธาตุ = มี, เป็น) + อ (ปัจจัยประจำหมวดธาตุ) + สฺ อาคม + อี (วิภัตติอาขยาต), แผลง อุ ที่ หุ เป็น โอ (หุ > โห), รัสสะ อี วิภัตติเป็น อิ
: อ + หุ = อหุ + อ = อหุ + สฺ = อหุส + อี = อหุสี > อโหสี > อโหสิ แปลตามศัพท์ว่า “ได้มีแล้ว” หรือ “ได้เป็นแล้ว”
ตัวอย่างประโยค :
สฺยามมกุฏราชกุมาโร ราชา อโหสิ.
แปลยกศัพท์ :
สฺยามมกุฏราชกุมาโร = อันว่าสยามมกุฏราชกุมาร
ราชา = เป็นพระราชา
อโหสิ = ได้เป็นแล้ว
สฺยามมกุฏราชกุมาโร ราชา อโหสิ = สยามมกุฏราชกุมารได้เป็นพระราชาแล้ว
คำกริยา “อโหสิ” เป็นตัวบ่งชี้ว่า ความเป็นพระราชาไม่ใช่ยังไม่เกิด หรือจักเกิด แต่ได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว
(๒) “กรรม”
บาลีเขียน “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
“กัมม” ในแง่ภาษา –
1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)
2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม
3- กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ”
“กัมม” ในแง่ความหมาย –
1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม
“กัมม” ในแง่ความเข้าใจ –
1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น”
2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)
3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น
อโหสิ + กมฺม = อโหสิกมฺม > อโหสิกรรม แปลตามศัพท์ว่า “กรรมได้มีแล้ว”
ข้อสังเกต :
“อโหสิกมฺม” เป็นศัพท์พิเศษ คือเอากริยากับนามมาสมาสกันและคงรูปกริยาไว้เต็มรูป ซึ่งตามปกติแล้วจะไม่มีคำเช่นนี้
คำลักษณะนี้ที่รู้จักกันดีในหมู่นักเรียนบาลีอีกคำหนึ่งคือคำว่า “นตฺถิปูโว” (นัด-ถิ-ปู-โว, คำนี้แจกวิภัตติแล้ว คำเดิมคือ “นตฺถิปูว” นัด-ถิ-ปู-วะ)
“นตฺถิ” เป็นคำกริยา (กิริยาอาขยาต) แปลว่า “ย่อมไม่มี” เช่นในคำตอบว่า “นตฺถิ ภนฺเต” = ไม่มีขอรับ
“ปูโว” แปลว่า ขนม
“นตฺถิ ปูโว” (แยกเป็นสองคำ) จึงแปลว่า “ขนมไม่มี”
“นตฺถิปูโว” เป็นคำที่มหาดเล็กบอกเจ้าชายอนุรุทธะว่า “นตฺถิ / ปูโว” แปลว่า ขนม / ย่อมไม่มี คือขนมหมดแล้ว แต่เจ้าชายอนุรุทธะเข้าใจผิดว่า “นตฺถิปูโว” เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง เนื่องจากตั้งแต่เกิดมาไม่เคยได้ยินคำปฏิเสธว่า “ไม่มี”)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความ “อโหสิกมฺม” ไว้ว่า –
an act or thought whose kamma has no longer any potential force. (การกระทำ หรือความผิด ที่ไม่มีกำลังต่อไปแล้ว หรือเลิกแล้วต่อกัน คือ อโหสิกรรม)
ahosikakamma is said to be a kamma inhibited by a more powerful one. (อโหสิกรรมถูกกล่าวว่าเป็นกรรมที่ยับยั้งโดยกรรมอื่นที่มีกำลังเหนือกว่า)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อโหสิกรรม” เป็นอังกฤษว่า –
Ahosikamma : defunct kamma; an act or thought which has no longer any potential force.
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“อโหสิกรรม : (คำนาม) กรรมที่เลิกให้ผล; การเลิกแล้วต่อกัน, การไม่เอาโทษแก่กัน. (ป. อโหสิกมฺม).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “อโหสิกรรม” ไว้ดังนี้ –
“อโหสิกรรม : กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก ได้แก่กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่เลิกให้ผล เหมือนพืชที่หมดยาง เพาะปลูกไม่ขึ้นอีก.”
หนังสือ “สังคหะ” เล่ม 3 หน้า 14 อธิบาย “อโหสิกรรม” ไว้ดังนี้ –
“อโหสิกรรม เป็นกรรมที่ไม่ให้ผล ไม่สนองผล เลิกให้ผล หมายความว่า เป็นกรรมที่ไม่สามารถจะอำนวยผลได้ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุหลายประการ คือ
– กรรมนั้นได้ให้ผลแล้ว
– กรรมนั้นไม่ก่อให้เกิดผล
– กรรมนั้นไม่มีผู้รับผล
เมื่อเป็นเช่นนี้ กรรมนั้นจึงได้ชื่อว่า อโหสิกรรม”
…………..
อภิปราย :
ในภาษาไทย มักใช้คำว่า “อโหสิกรรม” ในความหมายว่า ขอโทษ หรือยกโทษให้ คือผู้ทำผิดขอให้ตนอย่ามีความผิด และผู้ถูกละเมิดไม่ติดใจที่จะเอาผิด
ความหมายเช่นว่านี้ ตรงกับคำว่า ขอโทษ หรือขอขมา ซึ่งในแง่ตัวบุคคลสามารถขอโทษและยกโทษให้กันได้
แต่ในทางธรรม เมื่อทำกรรมสำเร็จ จะขอร้องไม่ให้กรรมนั้นให้ผลหาได้ไม่ เพราะเมื่อทำกรรมแล้วกรรมนั้นย่อมให้ผลตามเหตุตามปัจจัยเที่ยงตรงเสมอ
พอจะเทียบได้กับความผิดบางอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ว่ายอมความกันมิได้ แม้ผู้ถูกละเมิดหรือถูกกระทำจะยินยอมไม่เอาความ แต่ผู้รักษากฎหมายก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอยู่นั่นเอง
กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย แต่ถ้าไม่มีตัวจำเลยอยู่ เช่นจำเลยเสียชีวิตไปก่อนที่จะรับโทษ โทษตามคำพิพากษานั้นก็เป็นอันระงับไป นี่คือความหมายแง่หนึ่งของ “อโหสิกรรม” ที่พอจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายๆ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ขออภัย-ให้อภัยกันได้ เพราะเป็นกลไกของคุณธรรม
: แต่ขออโหสิกรรมกันไม่ได้ เพราะกลไกของกรรม
————–
(ตามคำขอของ Chaba Bo)
15-1-60