รัฐประศาสน์ (บาลีวันละคำ 540)
รัฐประศาสน์
อ่านว่า รัด-ถะ-ปฺระ-สาด
บาลีเป็น “รฏฺฐปสาสน” อ่านว่า รัด-ถะ-ปะ-สา-สะ-นะ
ประกอบด้วย รฏฺฐ + ปสาสน
“รฏฺฐ” แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง” หรือ “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง) ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง (ดูเพิ่มเติมที่ “รัฐบุรุษ” บาลีวันละคำ (288) 21-2-56 และ “รัฐบาล” บาลีวันละคำ (465) 23-8-56)
“ปสาสน” รากศัพท์คือ ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + สาส (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย > อน : ป + สาส + ยุ >อน = ปสาสน แปลว่า การสอน, การแนะนำ, การปกครอง, การได้เสวยอำนาจ, การดูแลรับผิดชอบ
บาลีมีประโยคว่า “รฏฺฐํ ปสาสติ” แปลว่า “ปกครองบ้านเมือง” แปลงรูปเป็นคำนามเป็น “รฏฺฐปสาสน” เขียนแบบไทยอิงสันสกฤตเป็น “รัฐประศาสน์” แปลว่า “การปกครองบ้านเมือง”
ลักษณะรัฐประศาสน์ตามอุดมคติแห่งพระพุทธศาสนา คือ –
1. เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ (ถือความถูกต้องชอบธรรมเป็นอำนาจ ไม่ถืออำนาจเป็นความถูกต้อง)
2. จัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย
3. มิให้มีพฤติการณ์อันเป็นอธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน
4. เจือจานทำนุบำรุงผู้ขัดสนยากไร้ (มิให้มีความหิวโหยหรืออดตายเกิดขึ้นในแผ่นดิน)
5. ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ อยู่เสมอ
มหารุกฺขูปมํ รฏฺฐํ
อธมฺเมน โย ปสาสติ
รสญฺจสฺส น ชานาติ
รฏฺฐญฺจสฺส วินสฺสติ.
บ้านเมืองเปรียบเหมือนไม้ใหญ่ (มีผลโอชะ)
ผู้ใดปกครองโดยไม่เป็นธรรม
ผู้นั้นย่อมไม่ได้ลิ้มรสแห่งผลไม้
และบ้านเมืองก็จะพินาศ
(มหาโพธิชาดก ปัญญาสนิบาต 28/65/29)
—————–
(เนื่องมาจาก ผจญ จอจาน ขอความหมายของคำว่า “นักการเมือง”)
7-11-56