พุทธบุตร (บาลีวันละคำ 2,660)
พุทธบุตร
ความหมายสูงสุดคือผู้บรรลุมรรคผล
อ่านว่า พุด-ทะ-บุด
ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + บุตร
(๑) “พุทธ”
บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)
: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”
“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –
One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)
(๒) “บุตร”
บาลีเป็น “ปุตฺต” (ปุด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปู (ธาตุ = สะอาด, ชำระ) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ, รัสสะ อู ที่ ปู เป็น อุ (ปู > ปุ)
: ปู + ตฺ + ต = ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นเหตุให้บิดามารดาสะอาด” (คือไม่ถูกตำหนิว่าไม่มีผู้สืบสกุล) (2) “ผู้ชำระตระกูลของตนให้สะอาด” (คือทำให้ตระกูลมีผู้สืบต่อ)
(2) ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม) + ต ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ,(ปูรฺ > ปูตฺ), รัสสะ อู ที่ ปู-(รฺ) เป็น อุ (ปูร > ปุร)
: ปูรฺ + ตฺ = ปูรต > ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”
(3) ปุสฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + ต ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ปุสฺ > ปุ), ซ้อน ตฺ
: ปุสฺ > ปุ + ตฺ + ต = ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันมารดาบิดาเลี้ยงดู”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ “ปุตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ลูกชาย (a son)
(2) เด็ก, ผู้สืบสกุล (child, descendant)
พุทฺธ + ปุตฺต = พุทฺธปุตฺต (พุด-ทะ-ปุด-ตะ) > พุทธบุตร (พุด-ทะ-บุด) แปลตามศัพท์ว่า “บุตรของพระพุทธองค์” (sons of the Buddha)
ขยายความ :
“พุทธบุตร” เป็นคำเรียกในเชิงอุปมา เพราะโดยข้อเท็จจริง ท่านผู้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็น “พุทธะ” คือพระพุทธเจ้า ย่อมไม่มีคู่ครอง ไม่มีครอบครัว จึงไม่มี “บุตร” อันเกิดจากสายเลือดตามธรรมชาติ
แต่ที่เรียกผู้ใดผู้หนึ่งว่า “พุทธบุตร” ก็โดยเหตุที่ผู้นั้นบวชประพฤติพรหมจรรย์ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดังคำที่ท่านพระสารีบุตรอัครสาวกกราบทูลว่า –
…………..
เอตาสํ สนฺทมานานํ
สาคโร สมฺปฏิจฺฉติ
ชหนฺติ ปุริมํ นามํ
สาคโรเตฺวว ญายติ.
เมื่อแม่น้ำทั้งหลายไหลมา
สาครย่อมรับไว้หมด
แม่น้ำเหล่านี้ย่อมละชื่อเดิม
ปรากฏว่านาม “สาคร” เท่านั้น ฉันใด
ตเถวิเม จตุวณฺณา
ปพฺพชิตฺวา ตวนฺติเก
ชหนฺติ ปุริมํ นามํ
พุทฺธปุตฺตาติ ญายเร.
วรรณสี่เหล่านี้ก็ฉันนั้น
บวชในสำนักของพระองค์แล้ว
ทั้งหมดย่อมละชื่อเดิม
ปรากฏนามว่า “พุทธบุตร” ฉะนี้
ที่มา: สารีปุตตตฺเถราปทาน คัมภีร์อปทาน ภาค ๑
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๓
…………..
โดยนัยนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะเรียกขานได้ว่าเป็น “พุทธบุตร” จะต้องเป็นผู้ที่ได้บวชเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
อนึ่ง ในคัมภีร์ที่เล่าเรื่องพระพุทธองค์ตรัสถึงภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่งในเมื่อมีกรณีเกิดขึ้น เช่นประพฤติตนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือถูกกล่าวหา ถ้าภิกษุสามเณรรูปนั้นเป็นปุถุชนและประพฤติไม่เหมาะสม จะทรงเรียกโดยใช้คำว่า “โมฆปุริส” = โมฆบุรุษ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้ที่ยังว่างเปล่าจากมรรคผลใดๆ แต่ถ้าภิกษุสามเณรรูปนั้นเป็นอริยบุคคล และมิได้ประพฤติผิดดังที่ถูกกล่าวหา จะทรงเรียกโดยใช้คำว่า “มม ปุตฺโต” = บุตรของเรา คำว่า “มม ปุตฺโต” นี้ ย่อมมีนัยว่าเป็น “พุทธบุตร” นั่นเอง
โดยนัยนี้ “พุทธบุตร” ย่อมหมายถึงผู้ที่บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลแล้ว
สรุปว่า –
คำว่า “พุทธบุตร” ความหมายเดิมในคัมภีร์ใช้เรียกผู้ที่บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยและเป็นพระอริยบุคคลแล้ว
ต่อมาอนุโลมใช้เรียกผู้ที่บรรพชาอุปสมบทแล้วแม้จะมิได้เป็นพระอริยบุคคล
ในภาษาไทยมีผู้ใช้คำว่า “พุทธบุตร” เรียกบุคคลทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติธรรม เช่น “ค่ายพุทธบุตร” โดยเล็งความหมายว่า ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นใคร ย่อมอยู่ในฐานะเป็น “บุตรของพระพุทธองค์” ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งทำให้ความหมายของคำว่า “พุทธบุตร” เคลื่อนที่ไปจากเดิม
เราไม่สามารถห้ามใครๆ ไม่ให้ใช้คำว่า “พุทธบุตร” ในความหมายที่คลาดเคลื่อนได้
แต่เราสามารถรู้ทันและช่วยกันใช้ให้ถูกต้องได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รักษาธรรมวินัยให้บริสุทธิ์
: เป็นพุทธบุตรทันที
#บาลีวันละคำ (2,660)
24-9-62