บาลีวันละคำ

เหตุการณ์ (บาลีวันละคำ 541)

เหตุการณ์

(บาลีไทย)

อ่านว่า เหด-กาน

เหตุ” บาลีอ่านว่า เห-ตุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปสู่ความเป็นผล” “สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งผล” หมายถึง เหตุผล, ปัจจัย, เค้ามูล, เรื่อง, ความเหมาะสม (เพื่อบรรลุผล), สิ่งหรือเรื่องที่ทําให้เกิดผล

การณ์” บาลีเป็น “การณ” อ่านว่า กา-ระ-นะ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำผล” ใช้ในความหมายว่า การกระทำ, วิธีทำ, การปฏิบัติ, การกระทำที่ผู้มีอำนาจกำหนดขึ้นหรือลงโทษแก่ผู้อื่น, การลงโทษ, การฆ่า, การงาน, หน้าที่, เหตุผล, ความจำเป็น

นักเรียนบาลีในเมืองไทยแปล “เหตุ” ทับศัพท์ว่า เหตุ และแปล “การณ” ว่า เหตุ เช่นกัน

ในภาษาบาลี คำว่า “เหตุ” และ “การณ” มีความหมายทำนองเดียวกัน ใช้ในข้อความคู่กันบ่อยๆ (เช่นข้อความแรกใช้ “เหตุ” ข้อความต่อมาใช้ “การณ” คล้ายกับคำซ้อนในภาษาไทย) แต่ที่ใช้ควบกันเป็น “เหตุการณ” (เห-ตุ-กา-ระ-นะ) ยังไม่พบ

ภาษาไทยเอาคำว่า “เหตุ” กับ “การณ” มาควบกันเป็น “เหตุการณ์” พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า “เรื่องที่เกิดขึ้น” ความหมายเช่นนี้ภาษาบาลีใช้คำว่า “ปวตฺติ” (ปะ-วัด-ติ) หรือ “ปวุตฺติ” (ปะ-วุด-ติ) แปลว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้น, เรื่องราวที่เป็นไป

คนเหมาะ อยู่ในเหตุการณ์ที่เหมาะ:

อุกฺกฏฺเฐ  สูรมิจฺฉนฺติ

มนฺตีสุ  อกุตูหลํ

ปิยญฺจ  อนฺนปานมฺหิ

อตฺเถ  ชาเต  จ  ปณฺฑิตํ.

ในยามคับขัน ต้องการคนกล้า

ในเวลาปรึกษา ต้องการคนไม่พูดพล่าม

ในคราวมีข้าวน้ำ ต้องการคนที่รัก

ในเมื่อเกิดเรื่องหนัก ต้องการคนมีสติปัญญา

(มหาสารชาดก เอกนิบาต ๒๗/๙๒)

8-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย