วุฒิสภา (บาลีวันละคำ 542)
วุฒิสภา
(บาลีไทย)
อ่านว่า วุด-ทิ-สะ-พา
เทียบบาลีเป็น “วุฑฺฒิสภา” อ่านว่า วุด-ทิ-สะ-พา
ประกอบด้วย วุฑฺฒิ + สภา
“วุฑฺฒิ” แปลว่า การเพิ่ม, ความเจริญ, ความงอกงาม, ความคืบหน้า, ความรุ่งเรือง
ในภาษาไทยอาจอนุโลมใช้หมายถึง ผู้เจริญแล้ว, ผู้เฒ่า, คนแก่, ผู้สูงอายุ ได้ด้วย
ในภาษาบาลีถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ (เช่นหมายถึงบุคคล) จะเป็น “วุฑฺฒ” = วุฒ
พจน.42 บอกไว้ว่า “วุฒ : เจริญแล้ว; สูงอายุ”
“สภา” แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่มาประชุมกันพูด” (2) “ที่เป็นที่พูดร่วมกัน” (3) “ที่อันรุ่งเรืองด้วยคนดี”
ตามความหมายเหล่านี้ “สภา” จึงเป็นเครื่องหมายของสังคมประชาธิปไตย คือ คนดีๆ มาปรึกษาหารือกันก่อนแล้วจึงลงมือทำกิจการต่างๆ (ดูเพิ่มเติมที่ “สภา” บาลีวันละคำ (340) 17-4-56)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“สภา : องค์การหรือสถานที่ประชุม”
วุฑฺฒิ + สภา = วุฑฺฒิสภา เขียนแบบไทยเป็น “วุฒิสภา”(ตัด ฑ มณโฑ ออก) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ประชุมเพื่อความเจริญ” หรือ “ที่ประชุมของผู้เจริญ”
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองและพิจารณากฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน พิจารณาเลือก แต่งตั้ง เสนอชื่อ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
ตามคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา แสดง “วุฒบุคคล (วุด-ทะ-) – คนที่ควรเคารพนับถือ” ไว้ 3 ประเภท คือ –
1. วัยวุฒ (ไว-ยะ-วุด) ผู้เจริญวัย ผู้สูงวัย
2. ชาติวุฒ (ชาด-ติ-วุด) ผู้มีชาติตระกูลสูง (หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่สูงโดยอนุโลม)
3. คุณวุฒ (คุน-นะ-วุด) หรือ ปัญญาวุฒ (ปัน-ยา-วุด) ผู้มีคุณธรรม ผู้มีสติปัญญารู้ผิดชอบชั่วดี
: บางคนนับถือได้แค่วุฒเดียว
: บางคนนับถือได้สองวุฒ
: บางคนนับถือได้ครบทั้งสามวุฒ
: บางคนนับถือไม่ได้เลยสักวุฒ
9-11-56