บาลีวันละคำ

วิปัสสนากรรมฐาน (บาลีวันละคำ 3,892)

วิปัสสนากรรมฐาน

งานที่มีในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

อ่านว่า วิ-ปัด-สะ-นา-กำ-มะ-ถาน

ประกอบด้วยคำว่า วิปัสสนา + กรรมฐาน

(๒) “วิปัสสนา”

เขียนแบบบาลีเป็น “วิปสฺสนา” (มีจุดใต้ ส ตัวแรก) อ่านว่า วิ-ปัด-สะ-นา รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ทิสฺ (ธาตุ = เห็น), แปลง ทิสฺ เป็น ปสฺสฺ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์

: วิ + ทิสฺ > ปสฺส = วิปสฺสฺ + ยุ > อน = วิปสฺสน + อา = วิปสฺสนา แปลตามศัพท์ว่า “ปัญญาที่เห็นสภาวะต่างๆ มีอนิจจลักษณะเป็นต้นในสังขาร” หมายถึง การเห็นแจ้ง, ความเห็นวิเศษ, ญาณพิเศษ, ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง (inward vision, insight, intuition, introspection)

“วิปสฺสนา” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทย เขียนเป็น “วิปัสสนา”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “วิปัสสนา” เป็นอังกฤษดังนี้ –

“วิปัสสนา (Vipassanā) : insight; intuitive vision; introspection; contemplation; intuition; insight development.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “วิปัสสนา” ไว้ดังนี้ –

“วิปัสสนา : ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม; ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น (ข้อ ๒ ในกัมมัฏฐาน ๒ หรือภาวนา ๒).”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“วิปัสสนา : (คำนาม) ความเห็นแจ้ง, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งในสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา. (ป.).”

(๒) “กรรมฐาน”

อ่านว่า กำ-มะ-ถาน ประกอบด้วยคำว่า กรรม + ฐาน

(ก) “กรรม” บาลีเป็น “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ) ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ > ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม > -มฺม

: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม (นปุงสกลิงค์)

“กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม” มีความหมายหลายอย่าง –

(1) การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม

(2) การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม

(3) การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม

(4) พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปก็คือ การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (action, the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”

(ข) “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล”

“ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

กมฺม + ฐาน = กมฺมฏฺฐาน (กำ-มัด-ถา-นะ)

โปรดสังเกตว่า มีอักษร ฏ ปฏัก ซ้อนแทรกระหว่าง กมฺม|ฏ|ฐาน

เขียนตามศัพท์เดิมเป็น “กัมมัฏฐาน” อ่านแบบไทยว่า กำ-มัด-ถาน

เขียนแบบลูกครึ่งสันสกฤต (กรรม) – บาลี (ฐาน) เป็น “กรรมฐาน” อ่านว่า กำ-มะ-ถาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “กัมมัฏฐาน” และ “กรรมฐาน”

ที่คำว่า “กรรมฐาน” บอกความหมายไว้ว่า “ที่ตั้งแห่งการงาน หมายเอาอุบายทางใจ มี ๒ ประการ คือ สมถกรรมฐาน เป็นอุบายสงบใจ และวิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา”

ส่วนที่ “กัมมัฏฐาน” บอกให้ดูที่ “กรรมฐาน” นั่นแปลว่า คำนี้รูปคำที่เป็นหลักคือ “กรรมฐาน” แต่ใครจะเขียนเป็น “กัมมัฏฐาน” ก็ไม่ผิด

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “กัมมัฏฐาน” เก็บความได้ดังนี้ –

………….

(1) กัมมัฏฐาน : ที่ตั้งแห่งการงาน, อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายทางใจ, วิธีฝึกอบรมจิตใจและเจริญปัญญา

(2) กัมมัฏฐาน 2 โดยหลักทั่วไป คือ 1. สมถกัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการทำจิตใจให้สงบ, วิธีฝึกอบรมเจริญจิตใจ 2. วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการให้เกิดความรู้แจ้ง, วิธีฝึกอบรมเจริญปัญญา”

(3) สิ่งที่นิยมใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ซึ่งพึงเลือกใช้ให้เหมาะกับตน เช่นให้ตรงกับจริต มี 40 อย่าง ได้แก่ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 พรหมวิหาร 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 อรูป 4

ส่วนสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือรูป-นาม หรือขันธ์ 5

………….

วิปสฺสนา + กมฺมฏฺฐาน = วิปสฺสนากมฺมฏฺฐาน (วิ-ปัด-สะ-นา-กำ-มัด-ถาน)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิปสฺสนากมฺมฏฺฐาน” ว่า exercise for intuition (การฝึกฝนเพื่อความรู้แจ้ง)

“วิปสฺสนากมฺมฏฺฐาน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิปัสสนากัมมัฏฐาน” และ “วิปัสสนากรรมฐาน”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “วิปัสสนา” ไว้ และมีลูกคำ 2 คำ คือ “วิปัสสนาธุระ” และ “วิปัสสนายานิก” แต่ไม่มี คำว่า “วิปัสสนากัมมัฏฐาน” หรือ “วิปัสสนากรรมฐาน”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายคำว่า “วิปัสสนากรรมฐาน” ไว้ว่า “กรรมฐานคือวิปัสสนา, งานเจริญปัญญา.”

และที่คำว่า “กัมมัฏฐาน” เขียนเป็น “วิปัสสนากัมมัฏฐาน” บอกความหมายไว้ว่า “กรรมฐานเพื่อการให้เกิดความรู้แจ้ง, วิธีฝึกอบรมเจริญปัญญา”

………….

การปฏิบัติธรรมหรือการเจริญจิตภาวนาในพระพุทธศาสนา มีวิธีการ 2 อย่าง คือ –

(1) สถถกรรมฐาน กรรมฐานเพื่อการทำจิตใจให้สงบ

(2) วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานเพื่อการให้เกิดความรู้แจ้ง

ผู้ปฏิบัติธรรมพึงศึกษาให้เข้าใจความหมายและความมุ่งหมาย และเมื่อลงมือปฏิบัติก็พึงกำหนดรู้ว่า ตนกำลังปฏิบัติกรรมฐานแบบไหน

………….

อภิปราย :

การปฏิบัติงานทางจิตที่เรียกว่า “กัมมัฏฐาน” (กรรมฐาน) ส่วนที่เป็น “สมถะ” มีมาก่อนพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีส่วนที่เป็น “วิปัสสนา”

การปฏิบัติงานทางจิตที่เป็น “วิปัสสนากรรมฐาน” พระพุทธองค์ทรงค้นพบอันเป็นทางให้ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ โลกจึงรู้จัก “วิปัสสนากรรมฐาน” มานับแต่นั้น

เป้าหมายของ “วิปัสสนากรรมฐาน” อยู่ที่การกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปจากสันดาน ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายอีกต่อไป มิใช่เพื่อให้ดวงจิตเข้าไปสถิตเป็นอมตะอยู่ในภพภูมิใดๆ ทั้งสิ้น ถ้ายังมีภพภูมิให้สถิต ก็คือยังไม่พ้นจากการเวียนเกิดเวียนตายนั่นเอง เพราะสรรพสิ่งที่ “มี” ย่อมดำเนินไปสู่ภาวะ “ไม่มี” ในที่สุด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ตายมีวิธีเดียว

: คือไม่เกิด

#บาลีวันละคำ (3,892)

07-02-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *