นวังคสัตถุศาสน์ (บาลีวันละคำ 3,891)
นวังคสัตถุศาสน์
แทบจะไม่มีใครรู้ แต่มีอยู่ในพจนานุกรมไทย
อ่านว่า นะ-วัง-คะ-สัด-ถุ-สาด
แยกศัพท์เป็น นว + อังค + สัตถุ + ศาสน์
(๑) “นว”
อ่านว่า นะ-วะ ในบาลีมีคำแปล 2 อย่าง คือ –
(1) ใหม่, สด, ยังไม่ช้ำหรือเสื่อมเสีย, สะอาด, เร็วๆ นี้, ที่ได้มาหรือปฏิบัติเมื่อเร็วๆ นี้เอง (new, fresh; unsoiled, clean; of late, lately acquired or practised), หนุ่ม, ยังไม่มีความชำนาญ, ไม่มีประสบการณ์ (young, unexperienced, newly initiated)
(2) เก้า (จำนวน 9)
ผู้จัดทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เสนอทฤษฎีว่า “นว” ที่แปลว่า “จำนวนเก้า” ก็น่าจะมาจาก “นว” ที่ว่า “ใหม่” นั่นเอง เพราะในการนับจำนวนทีละ 4 (จำนวนแปด = 8 เป็นจำนวนคู่) ลำดับใหม่เริ่มขึ้นด้วยเลข 9 [Connection with nava2 likely because in counting by tetrads (octo=8 is a dual!) a new series begins with No. 9]
“นว” จะหมายถึง “ใหม่” หรือ “เก้า” ต้องดูที่บริบท ในภาษาไทยมักใช้เป็นคําหน้าสมาส
ในที่นี้ “นว” แปลว่า เก้า (จำนวน 9)
(๒) “อังค”
เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย”
“องฺค” ในบาลีหมายถึง –
(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)
(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)
(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)
(๓) “สัตถุ”
เขียนแบบบาลีเป็น “สตฺถุ” อ่านว่า สัด-ถุ รากศัพท์มาจาก –
(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สาสฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ (รตฺถุ > ตฺถุ)
: สาสฺ + รตฺถุ = สาสรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สั่งสอนเวไนยตามความเหมาะสมด้วยประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์อนาคต และประโยชน์สูงสุด” (2) “ผู้สั่งสอนแนะนำสัตวโลก”
(2) สชฺ (ธาตุ = สละ, ปล่อย) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (สชฺ > ส) และลบ ร ที่ รตฺถุ
: สชฺ + รตฺถุ = สชรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สละกิเลส”
(3) สิจฺ (ธาตุ = ชำระ, ราด, รด) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สิจฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ
: สิจฺ + รตฺถุ = สิจรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ชำระกิเลสด้วยน้ำคือคำสอน”
(4) สุสฺ (ธาตุ = เหือดแห้ง) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สุสฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ
: สุสฺ + รตฺถุ = สุสรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังเปือกตมคือคมกิเลสให้เหือดแห้งไป”
(5) สสุ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สสุ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ
: สสุ + รตฺถุ = สสุรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เบียดเบียนกิเลส”
(6) สมฺ (ธาตุ = สงบ) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (สมฺ > ส) และลบ ร ที่ รตฺถุ
: สมฺ + รตฺถุ = สมรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังกิเลสให้สงบระงับ”
“สตฺถุ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ครู, ศาสดา (teacher, master) ในคัมภีร์ ถ้าไม่มีคำระบุเป็นอย่างอื่น หมายถึงพระพุทธเจ้า
“สตฺถุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สตฺถา” แปลว่า “อันว่าพระศาสดา” เป็นคำที่นักเรียนบาลีคุ้นที่สุด
ในที่นี้คงรูปเป็น “สตฺถุ” เขียนแบบไทยเป็น “สัตถุ”
(๔) “ศาสน์”
บาลีเป็น “สาสน” อ่านว่า สา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก”
(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ส-(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส)
: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส”
คำว่า “สาสน” (นปุงสกลิงค์) มีที่ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –
(1) คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา”
(2) คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)
(3) ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)
ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (1) ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาสน” และ “ศาสนา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาสน-, ศาสนา : (คำนาม) ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์อันมีหลัก คือแสดงกําเนิดและความสิ้นสุดของโลกเป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทําตามความเห็นหรือตามคําสั่งสอนในความเชื่อถือนั้น ๆ. (ส. ศาสน ว่า คําสอน, ข้อบังคับ; ป. สาสน).”
ในที่นี้สะกดเป็น “ศาสน์” (การันต์ที่ น) อ่านว่า สาด
การประสมคำ :
๑ นว + องฺค = นวงฺค (นะ-วัง-คะ) แปลว่า “องค์เก้า” = ส่วนประกอบ 9 อย่าง
๒ สตฺถุ + สาสน = สตฺถุสาสน (สัด-ถุ-สา-สะ-นะ) แปลว่า “คำสอนของพระศาสดา”
๓ นวงฺค + สตฺถุสาสน = นวงฺคสตฺถุสาสน (นะ-วัง-คะ-สัด-ถุ-สา-สะ-นะ) แปลว่า “คำสอนของพระศาสดามีองค์เก้า”
“นวงฺคสตฺถุสาสน” เขียนแบบไทยเป็น “นวังคสัตถุศาสน์” อ่านว่า นะ-วัง-คะ-สัด-ถุ-สาด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “นวังคสัตถุศาสน์” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“นวังคสัตถุศาสน์ : (คำนาม) คําสอนของพระศาสดา คือ พระพุทธเจ้า มีองค์ ๙ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ. (ป.).”
ขยายความ :
องค์ 9 ในสัตถุศาสน์แต่ละองค์หมายถึงอะไร ขอนำคำอธิบายในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [302] มาแสดงไว้ในที่นี้ ดังนี้ –
…………..
นวังคสัตถุศาสน์ (คำสอนของพระศาสดามีองค์ 9 — Navaṅga-satthusāsana: the Teacher’s nine-factored dispensation; the Master’s ninefold teaching)
1. สุตฺตํ (สูตร ได้แก่ พุทธพจน์ที่มีสาระเป็นแกนร้อยเรียงเรื่องหนึ่งๆ หมายเอาอุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร พระสูตรในสุตตนิบาต และพุทธวจนะอื่นๆ ที่มีชื่อว่า สุตตะ หรือ สุตตันตะ กล่าวง่ายคือ วินัยปิฎก คัมภีร์นิทเทสทั้งสอง และพระสูตรทั้งหลาย — Sutta: threads; discourses)
2. เคยฺยํ (เคยยะ ได้แก่ ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน หมายเอาพระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะสคาถวรรคในสังยุตตนิกาย — Geyya: discourses mixed with verses; songs)
3. เวยฺยากรณํ (ไวยากรณ์ ได้แก่ ความร้อยแก้วล้วน หมายเอาพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธพจน์อื่นใดที่ไม่จัดเข้าในองค์ 8 ข้อที่เหลือ — Veyyākaraṇa: proseexpositions)
4. คาถา (คาถา ได้แก่ ความร้อยกรองล้วน หมายเอา ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อว่าเป็นสูตร — Gāthā: verses)
5. อุทานํ (อุทาน ได้แก่ พระคาถาที่ทรงเปล่งด้วยพระหฤทัยสหรคตด้วยโสมนัสสัมปยุตด้วยญาณ พร้อมทั้งข้อความอันประกอบอยู่ด้วย รวมเป็นพระสูตร 82 สูตร — Udāna: exclamations; psalms; verses of uplift)
6. อิติวุตฺตกํ (อิติวุตตกะ ได้แก่ พระสูตร 110 สูตร ที่ตรัสโดยนัยว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา — Itivuttaka: Thus-said discourses)
7. ชาตกํ (ชาดก ได้แก่ ชาดก 550 เรื่อง มีอปัณณกชาดก เป็นต้น — Jātaka: birth-stories)
8. อพฺภูตธมฺมํ (อัพภูตธรรม หรือเรื่องอัศจรรย์ ได้แก่ พระสูตรที่ว่าด้วยข้ออัศจรรย์ ไม่เคยมีทุกสูตร เช่น ที่ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้ออัศจรรย์ไม่เคยมี 4 อย่างนี้ หาได้ในอานนท์” ดังนี้เป็นต้น — Abbhūtadhamma: marvellous ideas)
9. เวทลฺลํ (เวทัลละ ได้แก่ พระสูตรแบบถามตอบ ซึ่งผู้ถามได้ทั้งความรู้และความพอใจ ถามต่อๆ ไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตร เป็นต้น — Vedalla: question-and-answer; catechetical suttas)
คำว่า นวังคสัตถุสาสน์ นี้ เป็นคำรุ่นคัมภีร์อปทาน พุทธวงส์ และอรรถกถาทั้งหลาย บางทีเรียกว่า ชินสาสน์ บ้าง พุทธวจนะ บ้าง ส่วนในบาลีที่มาทั้งหลายเรียกว่า ธรรม บ้าง สุตะ บ้าง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยาดี ประโยชน์อยู่ที่ใช้รักษาโรคหาย
: คำสอนดี ประโยชน์มากหลายอยู่ที่ปฏิบัติตามจนบรรลุผล
#บาลีวันละคำ (3,891)
6-2-66
…………………………….
…………………………….