บาลีวันละคำ

ใบปวารณา (บาลีวันละคำ 3,898)

ใบปวารณา

ใบปวารณา

มีใบไม่ต้องใช้บัตร มีบัตรไม่ต้องใช้ใบ

อ่านว่า ไบ-ปะ-วา-ระ-นา

ประกอบด้วยคำว่า ใบ + ปวารณา

(๑) “ใบ” 

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(๑) ส่วนของพืชที่ติดอยู่กับกิ่งหรือลำต้น โดยมากมีลักษณะเป็นแผ่นแบน ๆ รูปร่างต่าง ๆ กัน มีก้านใบหรือไม่มีก็ได้ มักมีสีเขียว

(๒) สิ่งที่ทำด้วยผืนผ้าเป็นต้น สำหรับขึงที่เสากระโดงเพื่อรับลม

(๓) แผ่นเอกสารหรือหนังสือสำคัญต่าง ๆ เช่น ใบขับขี่ ใบทะเบียน

(๔) เรียกของที่เป็นแผ่น ๆ เช่น ใบหนังสือ ใบมีด ใบหู ทองใบ

(๕) ลักษณนามสำหรับใช้เรียกผลไม้ ภาชนะ เครื่องใช้บางอย่าง หรือแผ่นเอกสาร เช่น มะม่วง ๒ ใบ ถ้วย ๓ ใบ ตู้ ๔ ใบ ใบขับขี่ ๕ ใบ.

(๒) “ปวารณา

อ่านว่า ปะ-วา-ระ-นา รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า) + วรฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา, ห้าม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น , ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (วรฺ > วาร), + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: + วรฺ = ปวร + ยุ > อน = ปวรน > ปวารน > ปวารณ + อา = ปวารณา 

ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปฺรวารณ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรวารณ : (คำนาม) ‘ประวารณะ, ประวารณ์,’ ทานหรือของให้อันเปนที่พอใจ; การห้าม, การขัดขวาง, การต่อต้าน; a desirable gift; prohibition, objection, opposition.”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปวารณา” ไว้ดังนี้ – 

(1) the Pavāraṇā, a ceremony at the termination of the Vassa (ปวารณา, พิธีกรรมที่กระทำในวันออกพรรษา) 

(2) satisfaction (ความพอใจ) 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ปวารณา” ไว้ว่า –

1. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ขอ 

2. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน, ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า วันมหาปวารณา โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนได้ (มีรายละเอียดต่อไปอีก)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปวารณา : (คำกริยา) ยอมให้ภิกษุสามเณรขอหรือเรียกร้องเอาได้ เช่น ขอของจากผู้ปวารณา ใบปวารณา; บอกยอมให้ใช้ได้ด้วยความเต็มใจ เช่น ขอปวารณาจะใช้อะไรก็บอก; พิธีกรรมทางศาสนายอมให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนได้ ทําในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา, เรียกวันออกพรรษาว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา. (ป.).”

ใบ + ปวารณา = ใบปวารณา เป็นคำประสมแบบไทย ในบทนิยามคำว่า “ปวารณา” ข้างต้น พจนานุกรมฯ ก็ยกตัวอย่างว่า “ใบปวารณา

อภิปรายขยายความ :

ที่คำว่า “ใบ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกลูกคำของ “ใบ” ไว้ 55 คำ แต่ไม่มีคำว่า “ใบปวารณา”!

มีข้อสังเกตว่า คำว่า “ใบอนุโมทนา” ก็ไม่มีในลูกคำของ “ใบ” แต่พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “อนุโมทนา” และมีคำว่า “อนุโมทนาบัตร” เก็บไว้เป็นคำตั้งอีกคำหนึ่ง ไม่ใช่ลูกคำของ “อนุโมทนา” 

ถ้าเทียบตามคำว่า “อนุโมทนา” เมื่อพจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “ปวารณา” ก็ควรจะมีคำว่า “ปวารณาบัตร” เก็บไว้เป็นคำตั้งอีกคำหนึ่ง แต่พจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้!

สรุปว่า ทั้งคำว่า “ใบปวารณา” และคำว่า “ปวารณาบัตร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 !

ปวารณาบัตร” หรือ “ใบปวารณา” หมายถึง หนังสือเป็นแผ่นกระดาษมีข้อความเป็นใจความว่า –

…………..

เจ้าภาพ (จะระบุนามด้วยก็ได้) ขอถวายปัจจัยเป็นมูลค่าเท่านั้นๆ แด่พระคุณเจ้า (เช่น ถวายประธานสงฆ์เป็นมูลค่าเท่านี้ ถวายพระอันดับรูปละเท่านี้) ได้มอบไว้แก่ไวยาวัจกรแล้ว พระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งใดอันสมควรแก่สมณบริโภค ขอได้โปรดเรียกร้องจากไวยาวัจกรนั้น เทอญ

…………..

แล้วถวายใบปวารณานี้แก่พระ ส่วนตัวเงินก็มอบให้ไวยาวัจกรเก็บรักษา

ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะมีพุทธบัญญัติไว้ว่า ห้ามภิกษุรับเงินทอง (วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย) ถ้าขืนรับ มีความผิดที่เรียกว่า “ต้องอาบัติ” 

ชาวบ้านที่มีศรัทธาปรารถนาจะถวายเงินเพื่อใช้จัดซื้อหาของฉันของใช้ จึงต้องใช้วิธีมอบเงินนั้นให้แก่ไวยาวัจกร (ผู้ทำหน้าที่รับ-จ่ายเงินแทนพระ) แล้วบอกกล่าวแก่ภิกษุผู้รับถวายให้ทราบไว้ วิธีนี้เรียกว่า “ปวารณา” 

การปวารณานั้น จะใช้วิธีบอกกล่าวด้วยวาจาก็ได้ บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ กรณีที่บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกใบบอกกล่าวนั้นว่า “ปวารณาบัตร” หรือ “ใบปวารณา” 

เมื่อถวายเงินด้วยวิธีเช่นนี้ พระก็ไม่ต้องอาบัติเพราะรับเงิน

ครั้นเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องการของฉันของใช้อันสมควรแก่สมณบริโภค พระก็บอกแก่ไวยาวัจกร ไวยาวัจกรจะทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาตามวงเงินที่พระรูปนั้นมีสิทธิ์ใช้ตามที่โยมปวารณามอบไว้

เมื่อจัดซื้อจัดหาด้วยวิธีเช่นนี้ พระก็ไม่ต้องอาบัติเพราะซื้อขายอันเป็นศีลอีกข้อหนึ่งที่มีพุทธบัญญัติไว้

ข้อสังเกต :

๑ ในแง่ภาษา

มักมีผู้ใช้คำผิดหลักภาษา คือใช้คำว่า “ใบ” กับ “บัตร” ซ้ำซ้อนกัน เป็น “ใบปวารณาบัตร” และ “ใบอนุโมทนาบัตร” เรื่องนี้เกิดจากการไม่ศึกษา สังเกต สำเหนียก พูดหรือเขียนเพลินไปตามสะดวกปาก

ถ้าใช้ “ใบ” ก็เป็น “ใบปวารณา” “ใบอนุโมทนา

ถ้าใช้ “บัตร” ก็เป็น “ปวารณาบัตร” “อนุโมทนาบัตร

หรือจำง่ายๆ ว่า “มีใบไม่ต้องใช้บัตร มีบัตรไม่ต้องใช้ใบ

๒ ในแง่การปฏิบัติ:

เมื่อราวครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทั้งชาววัดทั้งชาวบ้านรู้จัก “ปวารณา” ทั่วกัน นิมนต์พระไปสวดไปฉันในงานบุญ ถึงลำดับสุดท้ายเมื่อถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว ก่อนอนุโมทนากรวดน้ำรับพร จะต้องกล่าวคำ “ปวารณา” ก่อนเสมอ โยมที่ทำหน้าที่พิธีกรจะรู้หน้าที่ ถ้าโยมลืม พระก็จะเตือน “ปวารณาก่อน โยม

แต่ ณ วันนี้ ทั้งชาววัดทั้งชาวบ้านไม่รู้จัก “ปวารณา” กันแล้ว งานไหนงานนั้น ไม่เคยมีการปวารณา ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือด้วยลายลักษณ์อักษร ใช้วิธีถวายเงินไปกับพระตรงๆ “โยมก็ไม่นะ พระก็ไม่โม” ใครพูดหรือบอกให้ปวารณา ก็ทำหน้างง ย้อนถามว่า ปวารณาอะไร ปวารณาทำไม ทำไมต้องปวารณา

แค่ครึ่งศตวรรษ การศึกษาและปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยเสื่อมลงไปได้ถึงเพียงนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น –

: จะช่วยกันหาทางแก้ไขฟื้นฟู

: หรือจะเพียงแต่นั่งดูแล้วปลงสังเวช

#บาลีวันละคำ (3,898)

13-2-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *