อักขรวิธี (บาลีวันละคำ 3,911)
อักขรวิธี
รู้วิชานี้ก็พออ่านออกเขียนได้
อ่านว่า อัก-ขะ-หฺระ-วิ-ที
ประกอบด้วยคำว่า อักขร + วิธี
(๑) “อักขร”
เขียนแบบบาลีเป็น “อกฺขร” อ่านว่า อัก-ขะ-ระ รากศัพท์มาจาก –
(1) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ขร (ของแข็ง), แปลง น เป็น อ, ซ้อน กฺ
: น + กฺ + ขร = นกฺขร > อกฺขร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่เป็นของแข็ง”
(2) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ขรฺ (ธาตุ = พินาศ) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง น เป็น อ, ซ้อน กฺ
: น + กฺ + ขรฺ = นกฺขรฺ + อ = นกฺขร > อกฺขร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่พินาศไป” (คือไม่ถึงความเสื่อมสิ้นไป)
(3) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ขี (ธาตุ = สิ้นไป) + อร ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อี ที่ ขี (ขี > ข), แปลง น เป็น อ, ซ้อน กฺ
: น + กฺ + ขี = นกฺขี > นกฺข + อร = นกฺขร > อกฺขร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่สิ้นไป” (คือใช้ไม่มีวันหมด)
“อกฺขร” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้
– เป็นคำนาม หมายถึง เสียงที่เปล่งออก, เสียงสูงต่ำ, คำ, ถ้อยคำ (sounds, tones, words)
– เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มั่นคง, คงเส้นคงวา, ทนทาน, ยั่งยืน (constant, durable, lasting)
“อกฺขร” ในภาษาไทยใช้ตามรูปบาลีเป็น “อักขร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “อักขระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อักขร-, อักขระ : (คำนาม) ตัวหนังสือ. (ป.; ส. อกฺษร).”
และใช้ตามสันสกฤตเป็น “อักษร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อักษร, อักษร– : (คำนาม) ตัวหนังสือ, วิชาหนังสือ เช่น ฉลาดรอบรู้ในอักษรสยาม. (ส.; ป. อกฺขร).”
ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “อักขร-”
(๒) “วิธี”
บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: วิ + ธา > ธ = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิธิ” เป็นอังกฤษ ดังนี้ –
(1) form, way; rule, direction, disposition, method, motto (แบบ, ทาง, กฎ, ทิศทาง, การจัดแจง, วิธี, คำขวัญ)
(2) luck, destiny (โชค, เคราะห์)
“วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.
(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.
(3) กฎ, เกณฑ์.
(4) คติ, ธรรมเนียม.
อักขร + วิธี = อักขรวิธี แปลตามศัพท์ว่า “แบบแผนแห่งอักษร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อักขรวิธี : (คำนาม) วิธีเขียนและอ่านหนังสือให้ถูกต้อง, ชื่อตำราไวยากรณ์ตอนที่ว่าด้วยตัวอักษร การอ่าน การเขียน และการใช้ตัวอักษร. (ป.).”
ขยายความ :
“อักขรวิธี” เป็น 1 ใน 4 ส่วนของหลักภาษาบาลีและหลักภาษาไทย ซึ่งท่านผูกเป็นคำคล้องจองกันว่า อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ
หนังสือ “สมัญญาภิธานและสนธิ” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งใช้เป็นแบบเรียนวิชาบาลีไวยากรณ์ของคณะสงฆ์ไทย กล่าวไว้ในหัวข้อ “บาลีไวยากรณ์” ตอนหนึ่งว่า –
…………..
บาลีไวยากรณ์นี้แบ่งเป็น ๔ ภาคก่อน คือ อักขรวิธี ๑ วจีวิภาค ๑ วากยสัมพันธ์ ๑ ฉันทลักษณะ ๑
[๑] อักขรวิธี ว่าด้วยอักษร จัดเป็น ๒ คือ สมัญญาภิธาน แสดงชื่ออักษรที่เป็นสระและพยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์ ๑ สนธิ ต่ออักษรที่อยู่ในคำอื่นให้เนื่องเป็นอันเดียวกัน ๑
[๒] วจีวิภาค แบ่งคำพูดออกเป็น ๖ ส่วน คือ นาม ๑ อัพยยศัพท์ ๑ สมาส ๑ ตัทธิต ๑ อาขยาต ๑ *กฤต ๑
[๓] วากยสัมพันธ์ ว่าด้วยการกและประพันธ์ผูกคำพูดที่แบ่งไว้ในวจีวิภาคให้เข้าเป็นประโยคอันเดียวกัน
[๔] ฉันทลักษณะ แสดงวิธีแต่งฉันท์ คือคาถาที่เป็นวรรณพฤทธิ์และมาตราพฤทธิ์
…………..
*กฤต ในที่อื่นๆ สะกดเป็น กิตก์
…………..
ชวนสังเกต :
ข้อความที่ยกมานี้ จะเห็นได้ว่าเต็มไปด้วยศัพท์วิชาการเกี่ยวกับไวยากรณ์ แต่ละศัพท์ต้องมีคำอธิบายขยายความต่อไปอีกมากจึงจะเข้าใจได้ว่าคืออะไรหรือหมายถึงอะไร บาลีวันละคำทำหน้าที่เพียงเสนอเป็นข้อมูลเบื้องต้น ผู้สนใจพึงขวนขวายศึกษาหาความรู้ต่อไป
“อักขรวิธี” ของบาลีมีข้อควรรู้ที่เป็นพื้นฐานง่ายๆ เช่น –
1 สระในบาลีมี 8 ตัว คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
2 พยัญชนะในบาลีมี 33 ตัว แบ่งเป็นพยัญชนะวรรค และอวรรค (อะ-วัก)
พยัญชนะวรรคมี 25 ตัว แบ่งเป็น 5 วรรค คือ –
(1) ก วรรค: ก ข ค ฆ ง
(2) จ วรรค: จ ฉ ช ฌ ญ
(3) ฏ วรรค: ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
(4) ต วรรค: ต ถ ท ธ น
(5) ป วรรค: ป ผ พ ภ ม
พยัญชนะอวรรค (อวรรค = ไม่จัดเข้าวรรค) มี 8 ตัว คือ ย ร ล ว ส ห ฬ อํ
3 โปรดสังเกตว่า ในบาลีไม่มีพยัญชนะที่ใช้ในภาษาไทยหลายตัว เช่น ด เด็ก ฎ ชฎา บ ใบไม้ ฟ พัน
4 พยัญชนะในบาลีที่ไม่มีสระกำกับ อ่านออกเสียงเท่ากับมีสระ อะ กำกับ เช่น ก ข ค ฆ ง อ่านว่า กะ ขะ คะ ฆะ งะ ไม่ใช่ กอ ขอ คอ ฆอ งอ เหมือนที่เราอ่านภาษาไทย
5 สระตัวแรกในบาลี คือ อ ออกเสียงว่า อะ ไม่ใช่ ออ คำว่า “ก วรรค” (ข้างต้น) อ่านว่า กะ-วัก ไม่ใช่ กอ-วัก
นี่เป็น “อักขรวิธี” แบบง่ายๆ ส่วนรายละเอียดยังมีอีกมาก ผู้สนใจพึงขวนขวายศึกษาหาความรู้ต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรียนคำ จบ
: เรียนคน ไม่จบ
#บาลีวันละคำ (3,911)
26-2-66
…………………………….
…………………………….