บาลีวันละคำ

มาฆประทีป (บาลีวันละคำ 3,910)

มาฆประทีป

ควรสะกดแบบนี้

อ่านว่า มา-คะ-ปฺระ-ทีบ

ประกอบด้วยคำว่า มาฆ + ประทีป

(๑) “มาฆ

บาลีอ่านว่า มา-คะ รากศัพท์มาจาก มฆา + ปัจจัย

(1) “มฆา” (มะ-คา) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = บูชา) + อา ปัจจัย, แปลง หฺ ที่สุดธาตุเป็น ฆฺ (มหฺ > มฆ)

: มหฺ + อา = มหา > มฆา แปลตามศัพท์ว่า “ดาวอันผู้ต้องการความสำเร็จบูชา” 

มฆา” ศัพท์นี้ รูปศัพท์เป็น “มฆ” และ “มาฆ” ก็มี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มฆะ, มฆา, มาฆะ : (คำนาม) ดาวฤกษ์ที่ ๑๐ มี ๕ ดวง เห็นเป็นรูปโคมูตร วานร หรือ งอนไถ, ดาวโคมูตร ดาววานร ดาวงอนไถ หรือ ดาวงูผู้ ก็เรียก. (ป., ส.).”

(2) มฆา + ปัจจัย, ลบ , “ลบสระหน้า” (มฆา > มฆ), ทีฆะ อะ ต้นศัพท์เป็น อา ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (มฆ > มาฆ)

: มฆา + = มฆาณ > มฆา > มฆ > มาฆ แปลตามศัพท์ว่า “เดือนที่ประกอบด้วยดาวมฆะที่มีดวงจันทร์เต็มดวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มาฆ-, มาฆะ ๑ : (คำนาม) ชื่อเดือนที่ ๓ แห่งจันทรคติ ตกราวเดือนกุมภาพันธ์. (ป., ส.).”

(๒) “ประทีป” 

บาลีเป็น “ปทีป” อ่านว่า ปะ-ที-ปะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทิปฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งโรจน์) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ คือ อิ ที่ ทิ-(ปฺ) เป็น อี (ทิปฺ > ทีป

: + ทิปฺ = ปทิปฺ + = ปทิปณ > ปทิป > ปทีป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สว่างไปทั่ว” 

ปทีป” (ปุงลิงค์) หมายถึง –

(1) แสงสว่าง (a light) 

(2) ตะเกียง, โคมไฟ (a lamp)

บาลี “ปทีป” สันสกฤตเป็น “ปฺรทีป

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า – 

ปฺรทีป : (คำนาม) ‘ประทีป,’ โคมไฟ, ตะเกียง; a lamp.”

ปทีป” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประทีป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประทีป : (คำนาม) ไฟที่มีเปลวสว่าง (หมายเอาตะเกียง ไฟเทียน เป็นต้น), ตะเกียง, โคม. (ส. ปฺรทีป; ป. ปทีป).”

มาฆ + ปทีป = มาฆปทีป (มา-คะ-ปะ-ที-ปะ) > มาฆประทีป (มา-คะ-ปฺระ-ทีบ) แปลว่า “โคมไฟในพิธีมาฆบูชา

อภิปรายขยายความ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านโพสต์ของ “เพื่อน” ทางเฟซบุ๊ก พบคำว่า “มาฆะประทีป” 

คำที่ยกขึ้นเป็นบาลีวันละคำสะกดเป็น “มาฆประทีป” 

คำที่พบสะกดเป็น “มาฆะประทีป

ถามว่า หลังคำว่า “มาฆ-” ควรมีสระ อะ หรือไม่ควรมี

ตอบตามหลักภาษาว่า ไม่ต้องมีสระ อะ

ยืนยันด้วยของจริง คือคำว่า “มาฆบูชา” ในพจนานุกรมฯ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มาฆบูชา” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า – 

มาฆบูชา : (คำนาม) การทําบุญพิเศษทางพระพุทธศาสนาในวันเพ็ญเดือน ๓ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สําคัญซึ่งประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ คือ ๑. วันเพ็ญดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (ดวงจันทร์เดินมาถึงดาวฤกษ์ชื่อ มฆะ) ๒. พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ๓. พระสงฆ์ที่มาประชุมนั้นล้วนได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทา ๔. ท่านเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น, วันจาตุรงคสันนิบาต ก็เรียก. (ป. มาฆปูชา).”

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ สะกดคำนี้เป็น “มาฆบูชา” (ไม่มีสระ อะ)ไม่ใช่ “มาฆะบูชา” (มีสระ อะ)

และในคำนิยามก็มีคำว่า “มาฆฤกษ์” (อ่านว่า มา-คะ-เริก) ก็ไม่มีสระ อะ ไม่ใช่ “มาฆะฤกษ์” (มีสระ อะ)

ด้วยหลักการเดียวกัน “มาฆประทีป” จึงควรสะกดอย่างนี้ คือไม่มีสระ อะ ไม่ใช่ “มาฆะประทีป” (มีสระ อะ)

คำเทียบที่อาจช่วยให้เห็นชัดขึ้น คือคำว่า “สาธารณะ” ถ้าอยู่คำเดียวหรืออยู่ท้ายศัพท์ –ณะ มีสระ อะ ด้วย 

แบบเดียวกับ “มาฆะ” ถ้าอยู่คำเดียวหรืออยู่ท้ายศัพท์ –ฆะ มีสระ อะ ด้วย

แต่ถ้ามีคำอื่น เช่น “สุข” มาสมาสข้างท้าย เราสะกดเป็น “สาธารณสุข” (ไม่มีสระ อะ) ไม่ใช่ “สาธารณะสุข” (มีสระ อะ)

แบบเดียวกับ “มาฆะ” ถ้ามีคำอื่น เช่น “ประทีป” หรือ “บูชา”  มาสมาสข้างท้าย ก็ต้องสะกดเป็น “มาฆประทีป” หรือ “มาฆบูชา” (ไม่มีสระ อะ) ไม่ใช่ “มาฆะประทีป” หรือ “มาฆะบูชา” (มีสระ อะ)

…………..

แค่สระ อะ ตัวเดียว อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือหยุมหยิม แต่นี่คือหลักภาษาที่ต้องเคารพ

การเรียนรู้และเคารพหลักภาษาเป็นเครื่องจูงจิตใจให้ใฝ่เคารพกฎกติกามารยาทอย่างอื่นๆ ต่อไปอีก นั่นย่อมเป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญของคนในชาติ ซึ่งก็คือความเจริญของชาติ หรือความเป็นชาติที่เจริญแล้วนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะทำเรื่องใหญ่ให้งาม

: อย่ามองข้ามเรื่องเล็ก

#บาลีวันละคำ (3,910)

25-2-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *