บาลีวันละคำ

วจีวิภาค (บาลีวันละคำ 3,912)

วจีวิภาค

ไม่ยากที่จะแบ่งคำ

อ่านว่า วะ-จี-วิ-พาก

ประกอบด้วยคำว่า วจี + วิภาค

(๑) “วจี”

บาลีอ่านว่า วะ-จี รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + อ (อะ) ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วจฺ + อ = วจ + อี = วจี แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด, ถ้อยคำ (speech, words)

อีกคำหนึ่งที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “วจี” คือ “วาจา” รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(จฺ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์

: วจฺ + ณ = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)

ในที่นี้ใช้เป็น “วจี”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“วจี : (คำนาม) คําพูด, ถ้อยคํา. (ป.; ส. วจิ, วาจฺ).”

(๒) “วิภาค”

บาลีอ่านว่า วิ-พา-คะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ภาชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ค

: วิ + ภาชฺ = วิภาชฺ + ณ = วิภาชณ > วิภาช > วิภาค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาแบ่งออกเป็นต่างๆ” หมายถึง การจำแนก, การแบ่ง; การจำแนกรายละเอียด, การจัดชั้น (distribution, division; detailing, classification)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“วิภาค : (คำนาม) การแบ่ง, การจําแนก; ส่วน, ตอน. (ป., ส.).”

วจี + วิภาค = วจีวิภาค แปลตามศัพท์ว่า “การจำแนกถ้อยคำ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“วจีวิภาค : (คำนาม) ชื่อตำราไวยากรณ์ตอนที่ว่าด้วยคำและหน้าที่ของคำ.”

ขยายความ :

“วจีวิภาค” เป็น 1 ใน 4 ส่วนของหลักภาษาบาลีและหลักภาษาไทย ซึ่งท่านผูกเป็นคำคล้องจองกันว่า อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ

หนังสือ “สมัญญาภิธานและสนธิ” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งใช้เป็นแบบเรียนวิชาบาลีไวยากรณ์ของคณะสงฆ์ไทย กล่าวไว้ในหัวข้อ “บาลีไวยากรณ์” ตอนหนึ่งว่า –

…………..

บาลีไวยากรณ์นี้แบ่งเป็น ๔ ภาคก่อน คือ อักขรวิธี ๑ วจีวิภาค ๑ วากยสัมพันธ์ ๑ ฉันทลักษณะ ๑

[๑] อักขรวิธี ว่าด้วยอักษร จัดเป็น ๒ คือ สมัญญาภิธาน แสดงชื่ออักษรที่เป็นสระและพยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์ ๑ สนธิ ต่ออักษรที่อยู่ในคำอื่นให้เนื่องเป็นอันเดียวกัน ๑

[๒] วจีวิภาค แบ่งคำพูดออกเป็น ๖ ส่วน คือ นาม ๑ อัพยยศัพท์ ๑ สมาส ๑ ตัทธิต ๑ อาขยาต ๑ *กฤต ๑

[๓] วากยสัมพันธ์ ว่าด้วยการกและประพันธ์ผูกคำพูดที่แบ่งไว้ในวจีวิภาคให้เข้าเป็นประโยคอันเดียวกัน

[๔] ฉันทลักษณะ แสดงวิธีแต่งฉันท์ คือคาถาที่เป็นวรรณพฤทธิ์และมาตราพฤทธิ์

…………..

*กฤต ในที่อื่นๆ สะกดเป็น กิตก์

…………..

ส่วนแรกคือ “อักขรวิธี” เป็นการแนะนำให้รู้จักหน้าตาและชื่อเสียงเรียงนามของตัวหนังสือหรือถ้อยคำ

ส่วนที่ 2 “วจีวิภาค” เป็นการเจาะลึกลงไปถึงรายละเอียดของถ้อยคำ

หลักกว้างๆ ของ “วจีวิภาค” ในภาษาบาลีก็คือ แบ่งคำออกเป็น 2 ประเภท คือ คำนาม และ คำกิริยา

คำนาม มีรายละเอียดแยกย่อยออกไปอีก แต่โดยสรุปก็มี 2 ประเภท คือ คำนามที่ประกอบวิภัตติเปลี่ยนรูปได้ตามหน้าที่ของคำ และคำนามที่ไม่เปลี่ยนรูปคือไม่ประกอบวิภัตติ คำนามทั้ง 2 ประเภทมีชื่อต่างๆ และมีรายละเอียดอีกมาก

คำกิริยา คือคําที่แสดงอาการของคำนาม ในภาษาบาลีมี 2 ประเภท คือ กิริยาอาขยาต และ กิริยากิตก์ เรียกสั้นๆ ว่า อาขยาต-กิตก์

อนึ่ง โปรดทราบว่า ในการเรียนบาลีของไทยนั้น คำว่า “คำกิริยา” ใช้ว่า “กิริยา” แต่ในภาษาไทยใช้ว่า “กริยา”

ถ้าพูดว่า “กริยา” นักเรียนบาลีจะงง ต้องพูดว่า “กิริยา” จึงจะเข้าใจ เพราะฉะนั้น ต้องแยกขอบเขตให้ถูกว่ากำลังพูดถึงไวยากรณ์บาลีหรือไวยากรณ์ไทย

เทียบคำอังกฤษเพื่อให้เห็นชัด (เพราะคนรุ่นใหม่คุ้นกับภาษาอังกฤษ) –

“กริยา” คือ verb

“กิริยา” คือ doing หรือ action

แต่ในไวยากรณ์บาลี verb ต้องใช้เป็น “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา”

นี่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของ “วจีวิภาค” ส่วนรายละเอียดยังมีอีกมาก โดยเฉพาะ “กิริยาอาขยาต” มีกฎเกณฑ์และวิธีการที่สลับซับซ้อนและยุ่งยากมากที่สุด จนกระทั่งนักเรียนบาลีพูดล้อกันเล่นว่า เรียนไวยากรณ์บาลี ที่น่าขยาดที่สุดก็คือ “กิริยาอาขยาต”

ผู้สนใจ “วจีวิภาค” พึงขวนขวายศึกษาหาความรู้ต่อไปเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

ระหว่างคำกับคน –

: ไม่ยากเหลือล้นที่จะแบ่งคำ

: แต่ยากเหลือล้ำที่จะแบ่งคน

#บาลีวันละคำ (3,912)

27-02-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *