ฉันทลักษณ์ [2] (บาลีวันละคำ 3,915)
ฉันทลักษณ์ [2]
หลักการเรียงร้อยถ้อยคำที่งดงาม
อ่านว่า ฉัน-ทะ-ลัก
ประกอบด้วยคำว่า ฉันท + ลักษณ์
(๑) “ฉันท”
บาลีเป็น “ฉนฺท” อ่านว่า ฉัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ฉนฺทฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: ฉนฺทฺ + อ = ฉนฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา”
(2) ฉทฺ (ธาตุ = ปิด, บัง, ระวัง) + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (ฉท > ฉํท > ฉนฺท)
: ฉทฺ + อ = ฉท > ฉํท > ฉนฺท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “บทประพันธ์ที่ปกปิดโทษคือความไม่ไพเราะ”
“ฉนฺท” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –
(1) สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา; ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ (impulse, excitement; intention, resolution, will; desire for, wish for, delight in)
(2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent to an official act by an absentee) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ”
(3) ฉันทลักษณ์, กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งฉันท์, ตำราฉันท์; บทร้อยกรอง (metre, metrics, prosody; poetry) ความหมายนี้คือที่ภาษาไทยพูดว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” บาลีไม่ได้เรียกแยกชนิดเหมือนไทย คงเรียกรวมทุกอย่างว่า “ฉนฺท–ฉันท์” แต่มีชื่อเฉพาะสำหรับฉันท์แต่ละชนิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถา”
ในภาษาไทย ใช้เป็น “ฉันท-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “ฉันท์” และ “ฉันทะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) ฉันท– ๑, ฉันท์ ๑ : (คำนาม) ชื่อคําประพันธ์ประเภทหนึ่งที่วางคํา ครุ ลหุ เป็นแบบต่าง ๆ. (ป.).
(2) ฉันท– ๒, ฉันท์ ๒, ฉันทะ : (คำนาม) ความพอใจ, ความรักใคร่, ความชอบใจ, ความยินดี; ความร่วมความคิดความเห็นกัน เช่น ลงมติเป็นเอกฉันท์, ความไว้เนื้อเชื่อใจ เช่น มอบฉันทะ. (ป.).
(๒) “ลักษณ์”
บาลีเป็น “ลกฺขณ” อ่านว่า ลัก-ขะ-นะ รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย”
“ลกฺขณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ (sign, characteristic, mark, a distinguishing mark or salient feature, property, quality)
“ลกฺขณ” ใช้ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ลักษณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลักษณ-, ลักษณะ : (คำนาม) สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).”
ฉันท + ลักษณ์ = ฉันทลักษณ์ แปลตามความว่า “ข้อกำหนดของการแต่งบทร้อยกรอง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ฉันทลักษณ์ : (คำนาม) ลักษณะแบบแผนคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง, ชื่อตำราไวยากรณ์ตอนที่ว่าด้วยลักษณะของคำประพันธ์.”
ขยายความ :
“ฉันทลักษณ์” เป็น 1 ใน 4 ส่วนของหลักภาษาบาลีและหลักภาษาไทย ซึ่งท่านผูกเป็นคำคล้องจองกันว่า อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ
หนังสือ “สมัญญาภิธานและสนธิ” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งใช้เป็นแบบเรียนวิชาบาลีไวยากรณ์ของคณะสงฆ์ไทย กล่าวไว้ในหัวข้อ “บาลีไวยากรณ์” ตอนหนึ่งว่า –
…………..
บาลีไวยากรณ์นี้แบ่งเป็น ๔ ภาคก่อน คือ อักขรวิธี ๑ วจีวิภาค ๑ วากยสัมพันธ์ ๑ ฉันทลักษณะ ๑
[๑] อักขรวิธี ว่าด้วยอักษร จัดเป็น ๒ คือ สมัญญาภิธาน แสดงชื่ออักษรที่เป็นสระและพยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์ ๑ สนธิ ต่ออักษรที่อยู่ในคำอื่นให้เนื่องเป็นอันเดียวกัน ๑
[๒] วจีวิภาค แบ่งคำพูดออกเป็น ๖ ส่วน คือ นาม ๑ อัพยยศัพท์ ๑ สมาส ๑ ตัทธิต ๑ อาขยาต ๑ *กฤต ๑
[๓] วากยสัมพันธ์ ว่าด้วยการกและประพันธ์ผูกคำพูดที่แบ่งไว้ในวจีวิภาคให้เข้าเป็นประโยคอันเดียวกัน
[๔] ฉันทลักษณะ แสดงวิธีแต่งฉันท์ คือคาถาที่เป็นวรรณพฤทธิ์และมาตราพฤทธิ์
…………..
*กฤต ในที่อื่นๆ สะกดเป็น กิตก์
…………..
ข้อควรรู้คือ “ฉันทลักษณ์” ในภาษาบาลีกำหนดด้วยคำหนักคำเบาที่เรียกว่า “ครุ-ลหุ” แต่ “ฉันทลักษณ์” ในภาษาไทยกำหนดด้วยเสียงสูง-ต่ำ และคำที่ “สัมผัส” กัน มีเฉพาะบทร้อยกรองประเภท “ฉันท์” ซึ่งเอารูปแบบมาจากบาลีสันสกฤตเท่านั้นที่เพิ่มข้อกำหนดว่าด้วยครุ-ลหุเข้าไปอีกส่วนหนึ่งแบบเดียวกับฉันทลักษณ์ของบาลี
ทุกวันนี้เด็กไทยไม่ได้ศึกษาภาษาไทยตามตำราภาษาไทยสมัยเก่าอีกแล้ว ผลก็คือเด็กรุ่นใหม่แต่งบทร้อยกรองไม่เป็นไปตามฉันทลักษณ์เพราะไม่ได้เรียนมา
ผลที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกิดมีแนวคิดที่จะแต่งบทร้อยกรองโดยไม่ต้องมีฉันทลักษณ์ มีผู้เรียกแนวคิดชนิดนี้ว่า “ปลดแอกฉันทลักษณ์” และเรียกบทร้อยกรองแบบนี้ว่า “กลอนเปล่า” อันเป็นการเรียกตามคำฝรั่ง (blank verse)
แนวคิดปลดแอกฉันทลักษณ์ซึ่งก็คือไม่ต้องเคารพกฎกติกาของบทร้อยกรองนี้เป็นที่นิยมชมชอบของคนรุ่นใหม่อยู่พักหนึ่ง ทุกวันนี้ก็ยังมีร่องรอยเหลืออยู่ดังจะสังเกตได้ว่า ในบทร้อยกรองของคนรุ่นใหม่ เสียงสูง-ต่ำ และคำสัมผัสจะไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนใดๆ ทั้งสิ้น
ซึ่งก็คือมีไม่มี “ฉันทลักษณ์” หลงเหลืออยู่อีกแล้วนั่นเอง
แต่ในหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ยังมีวิชาที่ต้องใช้ “ฉันทลักษณ์” เรียกว่า “วิชาแต่งฉันท์มคธ” เป็นวิชาบังคับในระดับชั้นเปรียญธรรม 8 ประโยค นักเรียนต้องสอบผ่านวิชานี้จึงจะถือว่าสอบได้ในชั้นนี้
“วิชาแต่งฉันท์มคธ” ข้อสอบจะบรรยายความเป็นเรื่องราวมาให้ นักเรียนต้องแต่งเรื่องราวที่บรรยายนั้นเป็นฉันท์ภาษามคธ 3 ฉันท์ ในจำนวน 6 ฉันท์ คือ:-
(1) ปัฐยาวัตร
(2) อินทรวิเชียร
(3) อุเปนทรวิเชียร
(4) อินทรวงศ์
(5) วังสัฏฐะ
(6) วสันตดิลก
เปรียญธรรม 8 ประโยค เป็นชั้นเปรียญเอก นักเรียนที่ผ่านชั้นนี้ต้องมีความสามารถในการเรียงร้อยถ้อยคำภาษาบาลีออกมาเป็นกาพย์กลอนที่เรียกว่า “ฉันท์” หรือ “คาถา” ได้เป็นอย่างดี และจะมีความรู้ความสามารถเช่นนี้ได้ ก็ต้องเรียนวิชา “ฉันทลักษณ์”
แถม :
พระปริยัติธรรมสายบาลีของคณะสงฆ์ไทยแบ่งระดับชั้นหรือ “ประโยค” เป็น 9 ประโยค แต่เดิมแบ่งกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม คือ –
ประโยค 1 ถึง 3 เรียกว่า “เปรียญตรี”
ประโยค 4 ถึง 6 เรียกว่า “เปรียญโท”
ประโยค 7 ถึง 9 เรียกว่า “เปรียญเอก”
เฉพาะเปรียญเอกยังแยกย่อยออกไปเป็น 3 ระดับ คือ –
– ประโยค 7 เรียก “เอก ส.” พจนานุกรมฯ เขียน “เอกส” (เอก-สอ) มาจากคำว่า “เอกสามัญ” หมายความว่า แม้จะเป็นเปรียญเอก แต่ก็เป็นเปรียญเอกระดับต้น ระดับธรรมดา จึงเรียกว่าเอกสามัญ
– ประโยค 8 เรียก “เอก ม.” พจนานุกรมฯ เขียน “เอกม” (เอก-มอ) มาจากคำว่า “เอกมัชฌิมะ” หรือ “เอกมัธยม” หมายความว่าเป็นเปรียญเอกระดับกลาง สูงขึ้นมาจากสามัญ แต่ยังไม่สูงสุด
– ประโยค 9 เรียก “เอก อุ.” พจนานุกรมฯ เขียน “เอกอุ” (เอก-อุ) มาจากคำว่า “เอกอุดม” หมายความว่าเป็นเปรียญเอกระดับสูงสุด
การแบ่งเปรียญออกเป็น 3 กลุ่มนี้ เข้าใจว่านักเรียนบาลีรุ่นใหม่ส่วนมากน่าจะไม่รู้จักแล้ว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เคารพกฎเกณฑ์ของฉันทลักษณ์ได้
: เคารพกฎเกณฑ์ของสังคมได้
#บาลีวันละคำ (3,915)
2-3-66
…………………………….
…………………………….