บาลีวันละคำ

เตละ (บาลีวันละคำ 3,939)

เตละ

1 ในเภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ

อ่านว่า เต-ละ

เตละ” เขียนแบบบาลีเป็น “เตล” อ่านว่า เต-ละ รากศัพท์มาจาก ติล + ปัจจัย 

(๑) “ติล

อ่านว่า ติ-ละ รากศัพท์มาจาก ติลฺ (ธาตุ = ยาง, น้ำมัน) + (อะ) ปัจจัย

: ติลฺ + = ติล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีน้ำมัน” หมายถึง เมล็ดงา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ติล” ว่า –

(1) the sesame plant & its seed (ต้นงาและเมล็ดงา) 

(2) usually the latter, out of which oil is prepared (โดยปกติหมายถึงเมล็ดงาซึ่งเอาไปทำเป็นน้ำมัน)

(3) Sesamum Indicum (พืชเมล็ดงา)

(๒) ติล + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ติ-(ล) เป็น เอ (ติล > เตล)

: ติล + = ติลณ > ติล > เตล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่เกิดจากเมล็ดงา” หมายถึง น้ำมัน (สันนิษฐานว่า เดิมเรียกน้ำมันว่า “เตล” เพราะคั้นจากเมล็ดงา ต่อมาแม้จะคั้นจากพืชชนิดอื่นหรือจากเปลวสัตว์ ก็เลยเรียกว่า “เตล” ติดปากมา) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “เตล” ว่า oil [prepared from tila seeds], oil in general (น้ำมัน [ซึ่งทำจากเมล็ดงา], น้ำมันทั่วๆ ไป) 

บาลี “เตล” สันสกฤตกเป็น “ไตล

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ไตล, ไตลํ : (คำนาม)  น้ำมัน; น้ำมันอันคั้นออกจากเมล็ดงา, เมล็ดมะเขือเทศ, ฯลฯ; ก๋ายาน, สรรชรส ( =สรฺชรส) หรือธูป; oil; oil expressed from sesamum, mustard, &c.; storax, gumbenzoin, incense, or olibanum.”

บาลี “เตล” เขียนแบบไทยเป็น “เตละ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เตละ : (คำแบบ) (คำนาม) นํ้ามันงา, นํ้ามัน. (ป.).”

…………..

ในพระวินัยปิฎก ให้คำจำกัดความคำว่า “เตละ” ไว้ดังนี้ –

…………..

เตลํ  นาม  ติลเตลํ  สาสปเตลํ  มธุกเตลํ  เอรณฺฑเตลํ  วสาเตลํ  ฯ

ที่ชื่อว่า “เตละ” ได้แก่ น้ำมันที่สกัดออกจากเมล็ดงา จากเมล็ดพันธุ์ผักกาด จากเมล็ดมะซาง จากเมล็ดละหุ่ง หรือจากเปลวสัตว์

ที่มา: โภชนวรรค สิกขาบทที่ 9 

วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 518

…………..

ขยายความ :

ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา เมื่อแรกที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ มี 4 อย่าง ที่เราเรียกรู้กันว่า “จตุปัจจัย” หรือ “ปัจจัยสี่” คือ :

(๑) ปิณฑิยาโลปโภชนะ : โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต

(๒) บังสุกุลจีวร : ผ้านุ่งห่มทำจากผ้าที่เขาทิ้งแล้ว 

(๓) รุกขมูลเสนาสนะ : ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้ 

(๔) ปูติมุตตเภสัช : ยารักษาโรคคือน้ำมูตรดอง 

ต่อมา ทรงอนุญาตปัจจัยพิเศษในแต่ละอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม เรียกว่า “อดิเรกลาภ” กล่าวคือ :

(๑) ภัตตาหารที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “สงฺฆภตฺตํ  อุทฺเทสภตฺตํ  นิมนฺตนํ  สลากภตฺตํ  ปกฺขิกํ  อุโปสถิกํ  ปาฏิปทิกํ” = ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ์ ภัตถวายในวันปาฏิบท ถ้ามีภัตเหล่านี้เกิดขึ้น จะไม่ต้องไปบิณฑบาตก็ได้ 

(๒) ผ้าที่เป็นอติเรกลาภ คือ “โขมํ  กปฺปาสิกํ  โกเสยฺยํ  กมฺพลํ  สาณํ  ภงฺคํ” = ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน. (เช่นผ้าด้ายแกมไหม) ถ้ามีผู้ถวายผ้าเหล่านี้ จะใช้สอยก็ได้

(๓) ที่อยู่อาศัยที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “วิหาโร  อฑฺฒโยโค  ปาสาโท  หมฺมิยํ  คุหา” = วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ ถ้าได้ที่อยู่เช่นนี้ หรือมีผู้ทำที่อยู่เช่นนี้ถวาย จะอาศัยอยู่ก็ได้

(๔) เภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “สปฺปิ  นวนีตํ  เตลํ  มธุ  ผาณิตํ” = เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ถ้ามีผู้ถวายเภสัชเหล่านี้ จะบริโภคก็ได้

…………..

“น้ำมัน” 1 ในเภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ คำบาลีว่า “เตล” มีความหมายดังแสดงมาข้างต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

น้ำกับน้ำมันเข้ากันไม่ได

: คนพาลกับบัณฑิตเข้ากันไม่ได้

: แต่อยู่กันฉันเพื่อนร่วมโลกได้

#บาลีวันละคำ (3,939)

26-3-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *