มธุ (บาลีวันละคำ 3,940)
มธุ
1 ในเภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ
อ่านว่า มะ-ทุ
“มธุ” รากศัพท์มาจาก –
(1) มธฺ (ธาตุ = สดชื่น) + อุ ปัจจัย
: มธฺ + อุ = มธุ แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่สดชื่น”
(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุ ปัจจัย, แปลง น เป็น ธ
: มนฺ + อุ = มนุ > มธุ แปลตามศัพท์ว่า “น้ำอันผู้ดื่มรู้ว่าหวาน”
“มธุ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง น้ำผึ้ง (honey)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มธุ” ว่า
มธุ
บาลี “มธุ” สันสกฤตก็เป็น “มธุ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “มธุ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) มธุ : (คำวิเศษณ์) หวาน, ไพเราะ, เสนาะ, จับใจ; sweet.
(2) มธุ : (คำนาม) น. น้ำผึ้ง; น้ำดอกไม้; สุรา; น้ำ; นม; น้ำตาล; ความหวาน-ไพเราะ-เสนาะ-จับใจ-หรือชุ่มชื้น (ดุจอารมณ์), เดือนไจตฺระ; ฤดูฝน; อโศกพฤกษ์; honey; the nectar of flowers; spirituous liquor; water; milk; sugar; sweetness, in flavour, sound, or disposition; the month Chaitra; spring, the rainy season; the Asoka-tree.
(3) มธุ : (คำนาม) รากมธุ, รากอ้อยสามสวน (หรือสมุนไพรอย่างหนึ่งซึ่งมีรสหวานดังน้ำผึ้ง); the Madhu-root or liquorice.
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มธุ : (คำนาม) นํ้าหวาน, นํ้าผึ้ง. (ป., ส.).”
…………..
ในพระวินัยปิฎก ให้คำจำกัดความคำว่า “มธุ” ไว้ดังนี้ –
…………..
มธุ นาม มกฺขิกามธุ ฯ
ที่ชื่อว่า “มธุ” ได้แก่ รสหวานที่แมลงผึ้งทำ
ที่มา: โภชนวรรค สิกขาบทที่ 9
วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 518
…………..
คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ยกคำว่า “มธุ นาม มกฺขิกามธุ” มาขยายความไว้ดังนี้
…………..
มธุ นาม มกฺขิกามธูติ มธุกรีหิ นาม มธุมกฺขิกาหิ ขุทฺทกมกฺขิกาหิ ภมรมกฺขิกาหิ จ กตํ มธุ ฯ
คำว่า มธุ นาม มกฺขิกามธุ หมายถึง น้ำหวานที่พวกแมลงทำไว้ คือผึ้งใหญ่ ผึ้งเล็ก และจำพวกแมลงภู่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแมลงทำน้ำหวาน (น้ำผึ้ง)
ตํ ปุเรภตฺตํ ปฏิคฺคหิตํ ปุเรภตฺตํ สามิสปริโภคํปิ วฏฺฏติ ฯ
น้ำผึ้งนั้นภิกษุรับประเคนก่อนเที่ยง แม้จะปนกับของอื่น (คือมีของกินอื่นๆ ผสมด้วย) ในเวลาก่อนเที่ยงก็ฉันได้
ปจฺฉาภตฺตโต ปฏฺฐาย สตฺตาหํ นิรามิสปริโภคเมว วฏฺฏติ ฯ
แต่หลังเที่ยงไปแล้วตลอด 7 วัน ต้องไม่มีของอื่นปนจึงจะฉันได้
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 258
…………..
ขยายความ :
ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา เมื่อแรกที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ มี 4 อย่าง ที่เราเรียกรู้กันว่า “จตุปัจจัย” หรือ “ปัจจัยสี่” คือ :
(๑) ปิณฑิยาโลปโภชนะ : โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต
(๒) บังสุกุลจีวร : ผ้านุ่งห่มทำจากผ้าที่เขาทิ้งแล้ว
(๓) รุกขมูลเสนาสนะ : ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้
(๔) ปูติมุตตเภสัช : ยารักษาโรคคือน้ำมูตรดอง
ต่อมา ทรงอนุญาตปัจจัยพิเศษในแต่ละอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม เรียกว่า “อดิเรกลาภ” กล่าวคือ :
(๑) ภัตตาหารที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “สงฺฆภตฺตํ อุทฺเทสภตฺตํ นิมนฺตนํ สลากภตฺตํ ปกฺขิกํ อุโปสถิกํ ปาฏิปทิกํ” = ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ์ ภัตถวายในวันปาฏิบท ถ้ามีภัตเหล่านี้เกิดขึ้น จะไม่ต้องไปบิณฑบาตก็ได้
(๒) ผ้าที่เป็นอติเรกลาภ คือ “โขมํ กปฺปาสิกํ โกเสยฺยํ กมฺพลํ สาณํ ภงฺคํ” = ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน. (เช่นผ้าด้ายแกมไหม) ถ้ามีผู้ถวายผ้าเหล่านี้ จะใช้สอยก็ได้
(๓) ที่อยู่อาศัยที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “วิหาโร อฑฺฒโยโค ปาสาโท หมฺมิยํ คุหา” = วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ ถ้าได้ที่อยู่เช่นนี้ หรือมีผู้ทำที่อยู่เช่นนี้ถวาย จะอาศัยอยู่ก็ได้
(๔) เภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “สปฺปิ นวนีตํ เตลํ มธุ ผาณิตํ” = เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ถ้ามีผู้ถวายเภสัชเหล่านี้ จะบริโภคก็ได้
…………..
“น้ำผึ้ง” 1 ในเภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ คำบาลีว่า “มธุ” มีความหมายดังแสดงมาข้างต้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่มีน้ำผึ้งแท้ บางทีก็ใช้น้ำผึ้งเทียมได้บ้าง
: ถ้าจะประพฤติธรรมให้ถูกทาง จงประพฤติอย่างน้ำผึ้งแท้
#บาลีวันละคำ (3,940)
27-3-66
…………………………….
…………………………….