บาลีวันละคำ

นพนิต (บาลีวันละคำ 3,938)

นพนิต

1 ในเภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ

อ่านว่า นบ-พะ-นิด

นพนิต” บาลีเป็น “นวนีต” อ่านว่า นะ-วะ-นี-ตะ รากศัพท์มาจาก นว + นีต 

(๑) “นว” 

อ่านว่า นะ-วะ รากศัพท์มาจาก นุ (ธาตุ = ชื่นชม) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ นุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (นุ > โน > นว)

: นุ > โน > นว + = นว แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนชื่นชม” 

นว” ตามรากศัพท์นี้มีคามหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) ใหม่, สด; ยังไม่ช้ำหรือเสื่อมเสีย, สะอาด, เร็ว ๆ นี้, ที่ได้มาหรือปฏิบัติเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง (new, fresh; unsoiled, clean; of late, lately acquired or practiced) 

(2) หนุ่ม, ยังไม่มีความชำนาญ, ไม่มีประสบการณ์; สามเณร (young, unexperienced, newly initiated; a novice) 

หมายเหตุ : ในบาลีมีคำว่า “นว” รูปคำเหมือนกันอีกคำหนึ่ง แปลว่า เก้า (จำนวน 9)

นว” จะหมายถึง “ใหม่” หรือ “เก้า” ต้องดูที่บริบท ในภาษาไทยมักใช้เป็นคําหน้าสมาส 

ในที่นี้ “นว” หมายถึง “ใหม่” 

(๒) “นีต

อ่านว่า นี-ตะ รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย 

: นี + = นีต 

กฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ :

นีต” เป็นคำกริยาอดีตกาลของกริยาปัจจุบันกาล “เนติ” (เน-ติ) หรือ “นยติ” (นะ-ยะ-ติ) :

(๑) เนติ, นยติ (ปัจจุบันกาล) แปลว่า นำ, ชี้ทาง, นำไป; ถือไป, นำเอาไป (to lead, to guide, to conduct; to take, to carry)

(๒) นีต (อดีตกาล) แปลว่า ถูกนำ, ถูกนำทาง, ถูกนำไป; ถูกเอาไป, ถูกถือไป (led, guided, conducted; taken, carried)

ปัจจุบันกาลกับอดีตกาลต่างกันอย่างไร โปรดเทียบคำอังกฤษ จะช่วยให้เห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้น

นว + นีต = นวนีต (นะ-วะ-นี-ตะ) แปลว่า “สิ่งที่นำมาจากนมเปรี้ยวใหม่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นวนีต” ว่า fresh butter (เนยสด)

บาลี “นวนีต” สันสกฤตก็เป็น “นวนีต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

นวนีต : (คำนาม) เนยสด; fresh butter.”

บาลี “นวนีต” เขียนแบบไทยเป็น “นวนีตะ” (นะ-วะ-นี-ตะ) แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ หากแต่เก็บเป็น “นวนิต” คือลดรูปสระ อี เป็น อิ และที่นิยมใช้ในภาษาไทยแผลง เป็น ตามหลักนิยม, ลดรูปสระ อี เป็น อิ ใช้เป็น “นพนิต” (นบ-พะ-นิด) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) นวนิต : (คำนาม) นพนิต, เนยข้นชนิดหนึ่ง. (ชาวอินเดียเรียกว่า ghee). (ป., ส. นวนีต).

(2) นพนิต : (คำนาม) เนยข้นชนิดหนึ่ง. (ป. นวนีต).

นวนีตะ” เป็น 1 ในจำพวก “เบญจโครส” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

…………..

เบญจโครส : โครส คือ ผลผลิตจากนมโค ๕ อย่าง ได้แก่ ขีระ (นมสด) ทธิ (นมส้ม) ตักกะ (เปรียง) สัปปิ (เนยใส) นวนีตะ (เนยข้น), พึงทราบว่า เนยข้นนั้น มีลักษณะเป็นก้อน ท่านจึงเติมคำว่า “ปิณฑะ” เข้าไป เป็น นวนีตปิณฑะ หรือโนนีตปิณฑะ (เช่น ขุ.เถร.๒๖/๑๑๕/๒๑๔).

…………..

ในพระวินัยปิฎก ให้คำจำกัดความคำว่า “นวนีต” ต่อจากคำว่า “สปฺปิ” ไว้ดังนี้ –

…………..

สปฺปิ  นาม  โคสปฺปิ  วา  อชิกาสปฺปิ  วา  มหิสสปฺปิ  วา  เยสํ  มํสํ  กปฺปติ  เตสํ  สปฺปิ  ฯ 

ที่ชื่อว่า “สัปปิ” ได้แก่ เนยใสที่ทำจากน้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระบือ หรือจากน้ำนมสัตว์ที่เป็นกัปปิยมังสะ (สัตว์ที่ภิกษุฉันเนื้อได้). 

นวนีตํ  นาม  เตสํเยว  นวนีตํ  

ที่ชื่อว่า “นวนีต” ได้แก่ เนยข้นที่ทำจากน้ำนมของสัตว์เหล่านั้นเช่นกัน

ที่มา: โภชนวรรค สิกขาบทที่ 9 

วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 518

…………..

ขยายความ :

ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา เมื่อแรกที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ มี 4 อย่าง ที่เราเรียกรู้กันว่า “จตุปัจจัย” หรือ “ปัจจัยสี่” คือ :

(๑) ปิณฑิยาโลปโภชนะ : โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต

(๒) บังสุกุลจีวร : ผ้านุ่งห่มทำจากผ้าที่เขาทิ้งแล้ว 

(๓) รุกขมูลเสนาสนะ : ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้ 

(๔) ปูติมุตตเภสัช : ยารักษาโรคคือน้ำมูตรดอง 

ต่อมา ทรงอนุญาตปัจจัยพิเศษในแต่ละอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม เรียกว่า “อดิเรกลาภ” กล่าวคือ :

(๑) ภัตตาหารที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “สงฺฆภตฺตํ  อุทฺเทสภตฺตํ  นิมนฺตนํ  สลากภตฺตํ  ปกฺขิกํ  อุโปสถิกํ  ปาฏิปทิกํ” = ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ์ ภัตถวายในวันปาฏิบท ถ้ามีภัตเหล่านี้เกิดขึ้น จะไม่ต้องไปบิณฑบาตก็ได้ 

(๒) ผ้าที่เป็นอติเรกลาภ คือ “โขมํ  กปฺปาสิกํ  โกเสยฺยํ  กมฺพลํ  สาณํ  ภงฺคํ” = ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน. (เช่นผ้าด้ายแกมไหม) ถ้ามีผู้ถวายผ้าเหล่านี้ จะใช้สอยก็ได้

(๓) ที่อยู่อาศัยที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “วิหาโร  อฑฺฒโยโค  ปาสาโท  หมฺมิยํ  คุหา” = วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ ถ้าได้ที่อยู่เช่นนี้ หรือมีผู้ทำที่อยู่เช่นนี้ถวาย จะอาศัยอยู่ก็ได้

(๔) เภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “สปฺปิ  นวนีตํ  เตลํ  มธุ  ผาณิตํ” = เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ถ้ามีผู้ถวายเภสัชเหล่านี้ จะบริโภคก็ได้

…………..

“เนยข้น” 1 ในเภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ คำบาลีว่า “นวนีต” คำไทยใช้ว่า “นวนิต” และ “นพนิต” มีความหมายดังแสดงมาข้างต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชื่อดีหรือไม่ดี แล้วแต่จะมีคนคิด

: แต่ไม่เป็นเหตุให้เสียสิทธิ์ในการทำความดี

#บาลีวันละคำ (3,938)

25-3-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *