บาลีวันละคำ

ผาณิต (บาลีวันละคำ 3,941)

ผาณิต

1 ในเภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ

ภาษาไทยอ่านว่า ผา-นิด

ภาษาบาลีอ่านว่า ผา-นิ-ตะ

ผาณิต” รากศัพท์มาจาก ผาณฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (ผาณฺ + อิ + )

: ผาณฺ + อิ + = ผาณิต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปตามปกติ” หมายถึง น้ำอ้อย, น้ำตาล

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ผาณิต” ว่า juice of the sugar cane, raw sugar, molasses (น้ำอ้อย, น้ำตาลดิบ, กากน้ำตาล) 

บาลี “ผาณิต” สันสกฤตก็เป็น “ผาณิต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ผาณิต : (คำนาม) น้ำตาลดิบ, ฆนีภูตรสของอ้อย; raw sugar, the inspissated juice of the sugar-cane.” 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ผาณิต : (คำนาม) นํ้าอ้อย, บางทีประสงค์เอานํ้าตาลด้วย, เช่น ผาณิตผิชิดมด ฤจะอดบอาจจะมี. (อิลราช). (ป., ส.).”

…………..

ในพระวินัยปิฎก ให้คำจำกัดความคำว่า “ผาณิต” ไว้ดังนี้ –

…………..

ผาณิตํ  นาม  อุจฺฉุมฺหา  นิพฺพตฺตํ  ฯ

ที่ชื่อว่า “ผาณิต” ได้แก่ รสหวานที่เกิดจากอ้อย

ที่มา: โภชนวรรค สิกขาบทที่ 9 

วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 518

…………..

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ยกคำว่า “ผาณิตํ  นาม  อุจฺฉุมฺหา  นิพฺพตฺตํ” มาขยายความไว้ดังนี้

…………..

ผาณิตนฺนาม  อุจฺฉุมฺหา  นิพฺพตฺตนฺติ  อุจฺฉุรสํ  อุปาทาย  อปกฺกา  วา  อวตฺถุกปกฺกา  วา  สพฺพาปิ  อวตฺถุกา  อุจฺฉุวิกติ  ผาณิตนฺติ  เวทิตพฺพา  ฯ  

คำว่า ผาณิตนฺนาม  อุจฺฉุมฺหา  นิพฺพตฺตํ พึงทราบว่า “น้ำอ้อย” หมายถึง น้ำอ้อยชนิดที่ยังไม่ได้เคี่ยว หรือที่เคี่ยวแล้วไม่มีกาก หรือน้ำอ้อยทุกชนิดที่ไม่มีกาก จนกระทั่งน้ำอ้อยสด 

ตํ  ปุเรภตฺตํ  ปฏิคฺคหิตํ  ปุเรภตฺตํ  สามิสํปิ  วฏฺฏติ  ฯ

น้ำอ้อยนั้นภิกษุรับประเคนก่อนเที่ยง แม้จะปนกับของอื่น (คือมีของกินอื่นๆ ผสมด้วย) ในเวลาก่อนเที่ยงก็ฉันได้

ปจฺฉาภตฺตโต  ปฏฺฐาย  สตฺตาหํ  นิรามิสเมว  วฏฺฏติ  ฯ

แต่หลังเที่ยงไปแล้วตลอด 7 วัน ต้องไม่มีของอื่นปนจึงจะฉันได้ 

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 259

…………..

ขยายความ :

ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา เมื่อแรกที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ มี 4 อย่าง ที่เราเรียกรู้กันว่า “จตุปัจจัย” หรือ “ปัจจัยสี่” คือ :

(๑) ปิณฑิยาโลปโภชนะ : โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต

(๒) บังสุกุลจีวร : ผ้านุ่งห่มทำจากผ้าที่เขาทิ้งแล้ว 

(๓) รุกขมูลเสนาสนะ : ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้ 

(๔) ปูติมุตตเภสัช : ยารักษาโรคคือน้ำมูตรดอง 

ต่อมา ทรงอนุญาตปัจจัยพิเศษในแต่ละอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม เรียกว่า “อดิเรกลาภ” กล่าวคือ :

(๑) ภัตตาหารที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “สงฺฆภตฺตํ  อุทฺเทสภตฺตํ  นิมนฺตนํ  สลากภตฺตํ  ปกฺขิกํ  อุโปสถิกํ  ปาฏิปทิกํ” = ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ์ ภัตถวายในวันปาฏิบท ถ้ามีภัตเหล่านี้เกิดขึ้น จะไม่ต้องไปบิณฑบาตก็ได้ 

(๒) ผ้าที่เป็นอติเรกลาภ คือ “โขมํ  กปฺปาสิกํ  โกเสยฺยํ  กมฺพลํ  สาณํ  ภงฺคํ” = ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน. (เช่นผ้าด้ายแกมไหม) ถ้ามีผู้ถวายผ้าเหล่านี้ จะใช้สอยก็ได้

(๓) ที่อยู่อาศัยที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “วิหาโร  อฑฺฒโยโค  ปาสาโท  หมฺมิยํ  คุหา” = วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ ถ้าได้ที่อยู่เช่นนี้ หรือมีผู้ทำที่อยู่เช่นนี้ถวาย จะอาศัยอยู่ก็ได้

(๔) เภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ คือ “สปฺปิ  นวนีตํ  เตลํ  มธุ  ผาณิตํ” = เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ถ้ามีผู้ถวายเภสัชเหล่านี้ จะบริโภคก็ได้

…………..

“น้ำอ้อย” 1 ในเภสัชที่เป็นอดิเรกลาภ คำบาลีว่า “ผาณิต” มีความหมายดังแสดงมาข้างต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าปากจะหวานปานน้ำอ้อย

: ความจริงใจก็อย่าให้น้อยไปกว่าวาจา

#บาลีวันละคำ (3,941)

28-3-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *