ร.น. = ราชนาวี (บาลีวันละคำ 3,969)
ร.น. = ราชนาวี
จำไว้ได้ก็ดี-เมื่อไรใช้ เมื่อไรไม่ต้องใช้
“ร.น.” เป็นคำย่อของคำว่า “ราชนาวี” เมื่ออ่านจึงต้องอ่านตามคำเต็ม คืออ่านว่า ราด-ชะ-นา-วี ไม่ใช่อ่านว่า รอ-นอ
“ราชนาวี” ประกอบด้วยคำว่า ราช + นาวี
(๑) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา
: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ”
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(๒) “นาวี”
บาลีอ่านว่า นา-วี ตรงตัว รากศัพท์มาจาก นาวา + ณิ ปัจจัย
(ก) “นาวา” รากศัพท์มาจาก –
(1) นุ (ธาตุ = ชมเชย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ นุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (นุ > โน > นาว) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นุ + ณ = นุณ > นุ > โน > นาว + อา = นาวา แปลตามศัพท์ว่า “พาหนะอันผู้คนชมเชย”
(2) นี (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อาว (นี > เน > นาว) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นี + ณ = นีณ > นี > เน > นาว + อา = นาวา แปลตามศัพท์ว่า “พาหนะที่นำจากฝั่งไปสู่ฝั่ง”
“นาวา” หมายถึง เรือ, นาวา (a boat, ship)
(ข) นาวา + ณิ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ (นา)-วา (นาวา > นาว), ลบ ณ ที่ ณิ (ณิ > อิ) แล้วทีฆะ อิ เป็น อี
: นาวา + ณิ = นาวาณิ > นาวณิ > นาวิ > นาวี แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวกับเรือ” “ผู้ประกอบหน้าที่ในเรือ” หมายถึง ทหารเรือ, นายเรือ, นายท้ายเรือ, ฝีพาย, ชาวเรือ, คนประจำเรือขึ้น-ล่อง (a navy, a sailor, mariner, a seaman, a ferryman)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาวี : (คำนาม) เรือ, กองทัพเรือ.”
โปรดสังเกตว่า ความหมายของ “นาวี” ในภาษาไทยนั้น เป็นความหมายตามที่เข้าใจกันหรือใช้กันในภาษาไทยเท่านั้น ไม่ใช่ความหมายตรงตัวตามภาษาบาลี
ราช + นาวี = ราชนาวี (ราด-ชะ-นา-วี) แปลตามประสงค์ว่า “กองทัพเรือของพระราชา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ราชนาวี” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“ราชนาวี : (คำนาม) กองทัพเรือของประเทศที่มีพระราชาหรือพระราชินีเป็นประมุข เช่น ราชนาวีไทย ราชนาวีอังกฤษ.”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “ราชนาวี” ทางราชการกำหนดให้ใช้คำย่อว่า “ร.น.”
“ร.น.” ไม่ได้อ่านว่า รอ-นอ ดังที่มักพูดคำย่อติดปาก เช่นเดียวกับ “พ.ศ.” ที่เป็นคำย่อของ “พุทธศักราช” (คำเก่าใช้ว่า “พระพุทธศักราช”) ไม่ได้อ่านว่า พอ-สอ
แต่เพราะความมักง่ายของคนอ่าน เห็นคำย่อ “พ.ศ.” ก็อ่านว่า พอ-สอ คนหนึ่งอ่านได้ อีกคนหนึ่งก็อ่านตาม ครั้นอ่านกันมากเข้าก็อ้างว่าเป็นการอ่าน “ตามความนิยม” ซึ่งความจริงแล้วเป็นการอ่าน “ตามความมักง่าย” ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีหรือที่ควรจะส่งเสริม
ครั้นมาถึงคำย่อ “ร.น.” นี่ก็เอาอีก คือจะอ่านตามความมักง่ายว่า รอ-นอ ยิ่งถ้าคนอ่านเช่นนั้นเป็นทหารเรือด้วยแล้ว แทนที่จะช่วยกันทักท้วง กลับยกเอาไปเป็นข้ออ้าง “ทหารเรือเองยังอ่านว่า รอ-นอ เลย”
นี่คือความอ่อนแอหรืออ่อนด้อยทางภาษา ควรช่วยกันแก้ไข ไม่ใช่ช่วยกันคล้อยตาม
ระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยคําย่อ พ.ศ.2555 ข้อ 13.3 กําหนดไว้ว่า
…………..
๑๓.๓ เมื่อเขียนคำย่อยศและชื่อนายทหารเรือชั้นสัญญาบัตรให้เขียนคำย่อของราชนาวีคือ “ร.น.” ต่อท้ายชื่อด้วย เว้นแต่การเขียนในราชการภายในกองทัพเรือ
…………..
คำย่อยศนายทหารเรือชั้นสัญญาบัตร มีดังนี้ –
พลเรือเอก = พล.ร.อ.
พลเรือโท = พล.ร.ท.
พลเรือตรี = พล.ร.ต.
พลเรือจัตวา = พล.ร.จ.
นาวาเอก = น.อ.
นาวาโท = น.ท.
นาวาตรี = น.ต.
เรือเอก = ร.อ.
เรือโท = ร.ท.
เรือตรี = ร.ต.
เมื่ออ่านคำย่อยศ ต้องอ่านตามคำเต็ม เช่น พล.ร.อ. ไม่ใช่อ่านว่า พน-รอ-ออ แต่ต้องอ่านว่า พน-เรือ-เอก อย่างนี้เป็นต้น
หลักที่พึงกำหนดตามระเบียบกระทรวงกลาโหมฯ ดังกล่าว มีดังนี้ –
1 ในกรณีที่หนังสือราชการนั้นส่งออกไปนอกกองทัพเรือ แต่อยู่ภายในกระทรวงกลาโหมด้วยกัน เมื่อเขียนคำย่อยศนายทหารเรือชั้นสัญญาบัตร ให้ใช้คำย่อ “ร.น.” ต่อท้ายชื่อด้วย เช่น
พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ร.น.
2 ในกรณีเขียนในราชการภายในกองทัพเรือ คือหนังสือราชการนั้นไม่ได้ส่งออกไปนอกกองทัพเรือ ไม่ต้องมีคำย่อ “ร.น.” ต่อท้ายชื่อ คงเขียนแต่เพียง –
พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย
3 ในกรณีส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหมมีหนังสือราชการออกไปภายนอกกระทรวงกลาโหม (ทหารมีหนังสือไปถึงพลเรือนหรือหน่วยงานที่มิใช่ทหาร) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พุทธศักราช 2526 กำหนดให้งดใช้คำย่อ อักษรย่อ หรือตัวย่อ เช่น ผู้ว่า-ผวจ. แพทย์-น.พ. รศ. ม.ร.ว. ให้ใช้คำเต็มเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ในกรณีดังกล่าว ยศทหารจึงต้องใช้คำเต็ม เฉพาะยศและชื่อนายทหารเรือชั้นสัญญาบัตรก็ไม่ต้องมีคำย่อ “ร.น.” ต่อท้ายชื่อ คือ –
ไม่ใช่ – พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ร.น.
ไม่ใช่ – พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ร.น.
แต่ต้องเป็น – พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
คำย่อ “ร.น.” มีหลักการใช้ดังแสดงมาโดยย่อ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เจตนายกย่อง แต่ขาดความรู้เท่าทัน
: อาจกลายเป็นเย้ยหยันโดยไม่เจตนา
#บาลีวันละคำ (3,969)
25-4-66
…………………………….
…………………………….