บิณบาตร (บาลีวันละคำ 3,968)
บิณบาตร
มาในมาดใหม่
เมื่อมีผู้ขยันผลิตคำผิด
ก็ต้องมีผู้ขยันอธิบายว่าผิดอย่างไร
โปรดทราบว่าคำที่ยกขึ้นตั้งไว้นั้นเป็นคำที่เขียนผิดพูดผิด อย่าจำเอาไปใช้ตาม
ผู้รู้บางท่านให้ข้อสังเกตว่า วิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้คนเขียนผิดก็คือ อย่าเอาคำที่เขียนผิดมาเขียนให้เห็น
แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำทำตรงกันข้าม คือเอาคำที่เขียนผิดมาเขียนให้เห็น ทั้งนี้ ไม่ได้มีความประสงค์จะให้ใครเขียนตาม หรือให้เห็นติดตาจะได้เขียนตาม
แต่มีเจตนาจะชี้แจงว่าผิดอย่างไร อุปมาเหมือนเอาสิ่งที่เป็นพิษมาแนะนำให้รู้จัก เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งที่เป็นพิษหน้าตาเป็นอย่างนี้ ก็จะได้ไม่หลงไปแตะต้องเข้า
และได้เตือนไว้เป็นประโยคต้นๆ ว่าคำที่ยกขึ้นตั้งไว้นั้นเป็นคำที่เขียนผิดพูดผิด อย่าจำเอาไปใช้ตาม
“บิณบาตร” เป็นคำที่เขียนผิดมาจากคำว่า “บิณฑบาต” และคำว่า “บิณฑบาต” นี้เองก็มักมีคนพูดตามสะดวกปากว่า บิน-บาด จะว่าอ่านแบบมักง่ายก็ได้
จากการพูดตามสะดวกปากหรืออ่านแบบมักง่ายว่า บิน-บาด ก็เลยเขียนแบบมักง่ายซ้ำเข้าไปว่า “บิณบาตร”
คำว่า “บิณฑบาต” ถ้าเพียงแต่พูดหรืออ่านว่า บิน-บาด แค่นี้ก็ยังพอกัดฟันให้อภัยได้ เพราะบางทีเราก็พูดหรืออ่านรัวๆ ไปตามความคล่องปาก แต่ถ้าถึงขั้นเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “บิณบาตร” แบบนี้เกินระดับมักง่ายไปแล้ว กลายเป็น “ไม่รับรู้” คือรูปคำเดิมเป็นอย่างไรข้าพเจ้าไม่สน ข้าพเจ้าจะเขียนแบบนี้แหละ ใครจะทำไม
ฝ่ายนักทฤษฎี “ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ” ก็เข้าผสมโรงทันที – เขียน “บิณบาตร” แต่คนอ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึง “บิณฑบาต” ก็ถือว่าการสื่อสารสำเร็จสมบูรณ์แล้ว “บิณบาตร” หรือ “บิณฑบาต” ใช้ได้เท่าๆ กัน ไม่มีผิดไม่มีถูก
แทนที่จะพยายามพัฒนาศักยภาพในการเขียน การสะกดคำ ขึ้นไปหามาตรฐาน กลายเป็นดึงมาตรฐานลงมาหาความมักง่ายและความไม่รับรู้
“บิณบาตร” เป็นคำผิด 2 ชั้น:
ชั้นแรกคือ ตัดหรือตกพยัญชนะ “ฑ” รูปคำที่ถูกต้องคือ “บิณฑบาต” มี –ฑ– อยู่กลางคำด้วย
ชั้นสองคือ “-บาต” มี ร เกินเข้ามา รูปคำที่ถูกต้องคือ “บิณฑบาต” –บาต ไม่มี ร
เท่าที่พบทั่วไป “บิณฑบาต” เขียนเป็น “บิณฑบาตร” (มี ร ผิด) ก็มีผู้ออกรับอธิบายแทนว่า เนื่องจากติดมือติดตามาจากคำว่า “บาตร” ซึ่งเป็นภาชนะที่ใช้ในการออกบิณฑบาต เมื่อเขียนคำนี้-มีเสียง “บาด” อยู่ด้วย-จิตก็ประหวัดไปถึง “บาตร” ก็เลยสะกดเป็น “บิณฑบาตร” (มี ร ผิด)
การอธิบายเช่นนี้ อุปมาเหมือนการอธิบายสาเหตุของโรคหรือสาเหตุของการเจ็บป่วยเท่านั้น ยังไม่ได้ลงมือรักษาโรค และยังไม่ได้บอกว่าจะเอาความรู้สาเหตุของโรคที่ว่านี้ไปช่วยรักษาโรคได้อย่างไร
“บิณฑบาต” เขียนถูก “บิณฑบาตร” หรือวิปริตถึงขั้น “บิณบาตร” เขียนผิด – หลักข้อนี้ไม่มีใครรู้มาตั้งแต่เกิด ล้วนแต่มาเรียนรู้เอาภายหลังทั้งสิ้น การเรียนรู้จึงเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ไม่เกินวิสัยมนุษย์สามัญ
สาเหตุที่แท้จริงของการเขียนผิดจึงเกิดจากการไม่เรียน หรือไม่ใฝ่รู้
…………..
“-บาต” ในคำว่า “บิณฑบาต” เป็นคนละคำกับ “บาตรพระ”
ที่มาของคำหรือรากศัพท์ก็ต่างกัน
(๑) “-บาต” ในคำว่า “บิณฑบาต” มาจากคำบาลีว่า “ปาต” (ปา-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตกไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ปตฺ > ปาต)
: ปตฺ + ณ = ปตณ > ปต > ปาต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ตกไป” หมายถึง (1) การตก (fall) (2) การโยน, การขว้าง (throwing, a throw)
“ปิณฺฑปาต” แปลตามศัพท์ว่า “การตกของก้อนข้าว” “การโยนก้อนข้าว” หมายถึง ทำอาหารให้ตกลงไปในบาตร, อาหารที่บิณฑบาตได้มา (alms-gathering, food received in the alms-bowl)
“ปิณฺฑปาต” เขียนในภาษาไทยเป็น “บิณฑบาต” (-บาต ไม่มี ร เรือ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บิณฑบาต : (คำนาม) อาหาร (ใช้แก่พระภิกษุสามเณร) เช่น รับบิณฑบาต. (คำกริยา) กิริยาที่พระภิกษุสามเณรรับของที่เขานํามาใส่บาตร, โดยปริยายหมายถึงกิริยาที่พระภิกษุสามเณรขอหรือขอร้อง เช่น เรื่องนี้ขอบิณฑบาตให้เลิกแล้วต่อกัน. (ป. ปิณฺฑปาต ว่า ก้อนข้าวที่ตก).”
(๒) “บาตร” ที่เป็นบาตรพระ มาจากคำบาลีว่า “ปตฺต” (ปัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปตฺ (ธาตุ = ตกลงไป) + ต ปัจจัย
: ปตฺ + ต = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ภาชนะเป็นที่ตกลงแห่งข้าวสุก” หมายความว่า ข้าวสุก ( = อาหาร) ตกลงไปในภาชนะชนิดนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต”
(2) ปาต (การตก) + ตา (ธาตุ = รักษา) + อ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา-(ต) เป็น อะ (ปาต > ปต), “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ตา (ตา > ต)
: ปาต + ตา = ปาตตา > ปตฺตา > ปตฺต + อ = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ภาชนะที่รักษาจากการตก” หมายความว่า (1) รักษา คือระวังไม่ให้ภาชนะนี้ตก เนื่องจากแต่เดิมภาชนะชนิดนี้ทำด้วยดิน ตกแล้วแตก (2) รักษา คือรองรับอาหารที่ตกลงมาไม่ให้หล่นถึงพื้น แต่ให้ตกลงในภาชนะนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล ปตฺต (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ว่า a bowl, esp. the alms-bowl of a bhikkhu (ชาม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาตรของภิกษุ)
บาลี “ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราเขียนอิงสันสกฤต แต่ยืดเสียงเป็น “ปาตร” และแปลง ป เป็น บ ตามหลักนิยมที่คุ้นกัน คือ ป ปลา เป็น บ ใบไม้
: ปตฺต > ปตฺร > ปาตร > บาตร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บาตร : ภาชนะชนิดหนึ่งสําหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”
“ปาต” กับ “ปตฺต” มีที่มาต่างกัน เมื่อกลายรูปมาเป็นคำไทยจึงต้องเขียนต่างกัน
“ปาต” เขียนเป็นคำไทยว่า “บาต”
“ปตฺต” เขียนเป็นคำไทยว่า “บาตร” (หรือ “บัตร”)
คำอื่นๆ ในภาษาไทยที่มาจาก “ปาต” คำเดียวกับ “บิณฑบาต” นี้ก็อย่างเช่น อุกกาบาต อสนีบาต สันนิบาต
คำเหล่านี้เราไม่ได้เขียนเป็น อุกกาบาตร อสนีบาตร สันนิบาตร
แล้วทำไม “บิณฑบาต” จึงจะต้องเขียนเป็น “บิณฑบาตร” หรือวิปริตเป็น “บิณบาตร” เล่า??
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำพยายามช่วยด้วยการเอาหลักความรู้มาวางไว้ให้ ถ้ามีผู้พยายามช่วยด้วยการพยายามเรียนรู้กันมากๆ โรคเขียนผิดสะกดผิดเพราะความมักง่ายก็จะลดน้อยลง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เขียนผิดไม่ได้ทำให้คนตกนรกก็จริง
: แต่ไม่ตกนรกด้วย เขียนถูกด้วย สวยกว่า
#บาลีวันละคำ (3,968)
24-4-66
…………………………….
…………………………….