บาลีวันละคำ

พรรคการเมือง (บาลีวันละคำ 3,970)

พรรคการเมือง

บาลีว่าอย่างไร

เนื่องจากคำว่า “การเมือง” และ “พรรคการเมือง” เป็นคำที่เกิดในยุคใหม่ ถ้าคิดเทียบเป็นภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษายุคเก่า ก็คงต้อง “ตีความ” กันหลายชั้นว่าควรจะตรงกับคำบาลีว่าอย่างไร ดังนั้น เบื้องต้นนี้ก็ควรคิดเฉพาะรูปคำที่พอจะเป็นคำบาลีได้เท่าที่ตาเห็นไปพลางก่อน

(๑) “พรรค” 

ตามรูปคำตรงกับบาลีว่า “วคฺค” อ่านว่า วัก-คะ รากศัพท์มาจาก –

(1) วชฺชฺ (ธาตุ = เว้น, ยกเว้น) + ปัจจัย, ลบ , แปลง ชฺช ที่ (ว)-ชฺช เป็น คฺค 

: วชฺช + = วชฺชณ > วชฺช > วคฺค แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่เว้นสิ่งที่มีกำเนิดไม่เหมือนกัน” (คืออะไรที่ไม่เหมือนกันก็ไม่นับเข้าพวกด้วย)

(2) วชฺ (ธาตุ = ถึง) + ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่ (ว)-ชฺ เป็น คฺ 

: วชฺ + = วชฺค > วคฺค แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่ถึงการรวมกัน

วคฺค” ในบาลีใช้ในความหมายว่า – 

(1) หมู่, ส่วนหรือตอน, กลุ่ม, พวก (a company, section, group, party)

(2) วรรค, ตอน หรือบทของหนังสือ (a section or chapter of a canonical book)

ในภาษาไทย เอาคำว่า “วคฺค” มาใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “พรรค

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พรรค, พรรค-, พรรค์ : (คำนาม) หมู่คนที่เข้ารวมกันเป็นพวกเป็นฝ่าย เช่น พรรคการเมือง, พวก เช่น คนพรรค์นั้น. (ส. วรฺค; ป. วคฺค).”

(๒) “การเมือง

เป็นคำที่บัญญัติจากคำอังกฤษว่า politic ขอพึ่งพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไว้ก่อนน่าจะเบาแรงลงไป

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำว่า politic เป็นบาลีว่า :

(1) nāgarika นาคริก

(2) janahitakāri ชนหิตการี

(3) upāyadakkha อุปายทกฺข

(1) “นาคริก” อ่านว่า นา-คะ-ริ-กะ ประกอบรูปคำมาจาก นคร (เมือง, บ้านเมือง) + ณิก ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ต้นคำคือ -(คร) เป็น อา

: นคร + ณิก = นครณิก > นคริก > นาคริก แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวกับเมือง” หมายถึงกิจการหรือการปฏิบัติทั้งปวงอันเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง

ภาษาบาลีคำนี้มีนัยว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าเป็นกิจที่เกี่ยวกับผลได้ผลเสียของประชาชน เรียกว่า “การเมือง” ได้ทั้งสิ้น

(2) “ชนหิตการี” อ่านว่า ชะ-นะ-หิ-ตะ-กา-รี ประกอบด้วย ชน (ประชาชน) + หิต (ผลประโยชน์) + การี (ผู้กระทำ)

: ชน + หิต = ชนหิต แปลว่า “ผลประโยชน์ของประชาชน”

: ชนหิต + การี = ชนหิตการี แปลว่า “ผู้กระทำการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

ภาษาบาลีคำนี้มีนัยว่า “การเมือง” ต้องเป็นกิจที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง

(๓) “อุปายทกฺข” อ่านว่า อุ-ปา-ยะ-ทัก-ขะ ประกอบด้วยคำว่า อุปาย + ทกฺข

(ก) “อุปาย” แปลตามศัพท์ว่า “กลวิธีเป็นเหตุให้ถึงความชนะศัตรู” “วิธีเป็นเหตุให้เข้าถึง” “การเข้าใกล้” หมายถึง หนทาง, วิธี, กลวิธี, เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปาย” ว่า approach; way, means, expedient, stratagem (การเข้าใกล้; หนทาง, วิธี, เล่ห์เหลี่ยม, อุบาย)

อุปาย” ใช้ในภาษาไทยว่า “อุบาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุบาย : (คำนาม) วิธีการอันแยบคาย; เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม. (ป., ส. อุปาย).”

(ข) “ทกฺข” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองในความฉลาด” “ผู้เจริญในกุศลธรรม” “ผู้ไปเร็วโดยไม่ชักช้าในกิจน้อยใหญ่

ทกฺข” มีความหมายว่า ขยัน, ฉลาด, สามารถ, ชำนาญ, คล่องแคล่ว, สันทัด, สะดวก (dexterous, skilled, handy, able, clever)

ทกฺข” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ทักษะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทักษะ : ความชํานาญ. (อ. skill)”

อุปาย + ทกฺข = อุปายทกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ฉลาดในอุบาย” หมายถึง ฉลาดในวิธีการอันแยบคาย, ฉลาดในเล่ห์กล, ฉลาดในเล่ห์เหลี่ยม (ที่จะทำการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน)

ภาษาบาลีคำนี้มีนัยเป็นกลางๆ คือบอกเพียงว่า “ฉลาดในอุบาย” แต่ไม่ได้บ่งว่า “อุบายเพื่ออะไร” จึงเป็นช่องทางให้ “การเมือง” อาจหมายถึงฉลาดในอุบายที่จะทำการใดๆ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้องก็ได้

เมื่อได้คำบาลีแล้ว ก็ลองเอามาประสมกันดู

(1) นาคริก + วคฺค = นาคริกวคฺค แปลว่า “กลุ่มคนผู้ทำกิจของบ้านเมือง” 

(2) ชนหิตการี + วคฺค = ชนหิตการีวคฺค แปลว่า “กลุ่มคนผู้ทำประโยชน์เพื่อประชาชน” 

(3) อุปายทกฺข + วคฺค = อุปายทกฺขวคฺค แปลว่า “กลุ่มคนผู้ฉลาดในอุบาย” 

ที่ว่ามานี้เป็นการคิดศัพท์ตามที่พอจะหาได้เฉพาะหน้าตามสติปัญญาและตามหน้าที่ของนักเรียนบาลี เพื่อตอบปัญหาว่า ถ้าจะแปลคำว่า “พรรคการเมือง” เป็นบาลี ก็น่าจะได้รูปศัพท์ดังเสนอมานี้ 

แต่พึงทราบว่า ไม่ใช่ข้อยุติ อาจมีใครคิดศัพท์อื่นขึ้นมาอีกก็ได้ แต่ที่สำคัญก็คือ คิดออกมาแล้วจะมีใครใช้ตามพูดตามหรือเปล่า ทำนองเดียวกับศัพท์บัญญัติ บัญญัติออกมาแล้วอาจไม่มีใครใช้ตามเลยก็ได้

…………..

เมื่อกล่าวถึงการบริหารบ้านเมือง มีคำเก่าที่ท่านใช้อยู่คำหนึ่งคือ “รัฏฐาภิปาลโนบาย” อ่านว่า รัด-ถา-พิ-ปา-ละ-โน-บาย ประกอบด้วยคำว่า รัฏฐ + อภิปาลน + อุบาย แปลว่า “กลวิธีในการปกครองบ้านเมือง” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “รัฏฐาภิปาลโนบาย” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า – 

รัฏฐาภิปาลโนบาย : (คำนาม) วิธีการปกครองบ้านเมือง.”

ขยายความว่า “รัฏฐาภิปาลโนบาย” หมายถึงกลวิธีหรือเล่ห์เหลี่ยมทุกรูปแบบที่ผู้ปกครองบ้านเมืองนำออกมาใช้ในการบริหารบ้านเมืองเพื่อให้เกิดผลเป็นการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขแก่ประชาชนเป็นที่ตั้ง หมายความว่า ทำอะไรก็ได้และทำอย่างไรก็ได้-ซึ่งบางกรณีหรือหลายๆ กรณีอาจจะไม่ตรงไปตรงมาเท่าไรนัก-ขอให้ประชาชนหมดทุกข์และมีสุขก็แล้วกัน 

แต่ข้อสำคัญที่สุด ต้องเป็นการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตัวผู้ปกครองเอง 

คำว่า “รัฏฐาภิปาลโนบาย” เป็นคำประเภท “รูปงามความเพราะ” เป็นคำที่กล่าวได้ว่าออกมาจากวัดโดยตรง เคยพบเห็นเสมอในสำนวนเทศนา โดยเฉพาะ “มงคลวิเสสกถา” อันเป็นพระธรรมเทศนาพิเศษที่สมเด็จพระสังฆราชทรง “เทศน์ถวายหลวง” ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาทุกๆ รัชกาล 

อาจเป็นเพราะรูปคำหรูหราเกินไป หรือเพราะเหตุอันใดก็ไม่อาจทราบได้ เวลานี้แทบจะไม่มีใครใช้คำนี้ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน หรือบางทีจะไม่มีใครรู้จักคำนี้ไปแล้วก็เป็นได้ ทั้งๆ ที่พจนานุกรมฯ ท่านก็อุตส่าห์เก็บไว้เป็นอย่างดี

ถ้าจะหาคำบาลีมาแปลคำว่า “พรรคการเมือง” ผู้เขียนบาลีวันละคำชอบคำว่า “รัฏฐาภิปาลโนบาย” มากกว่าคำอื่น

รัฏฐาภิปาลโนบาย” หมายถึง “การเมือง” ได้ตรงตัว ส่วนคำว่า “พรรค” ผู้เขียนบาลีวันละคำระลึกถึงคำว่า “สมุห” ที่ใช้ในคำว่า “สมุหนายก” และ “สมุหพระกลาโหม”

ทั้งสองคำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ – 

(1) สมุหนายก : (คำโบราณ) (คำนาม) ตำแหน่งข้าราชการชั้นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ดูแลรับผิดชอบและเป็นประธานที่ประชุมเสนาบดีของฝ่ายพลเรือน รวมทั้งการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองฝ่ายเหนือ.

(2) สมุหพระกลาโหม : (คำโบราณ) (คำนาม) ตำแหน่งข้าราชการชั้นอัครมหาสนาบดีฝ่ายทหาร ดูแลรับผิดชอบและเป็นประธานที่ประชุมเสนาบดีของฝ่ายทหาร รวมทั้งการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองปักษ์ใต้.

คำว่า “สมุห” บาลีเป็น “สมูห” อ่านว่า สะ-มู-หะ แปลตามศัพท์ว่า (1) “หมู่ที่นับกันโดยชอบและโดยพิเศษ” (2) “หมู่ที่ดำรงอยู่กับส่วนย่อย” (3) “หมู่อันเขารู้กันดีว่าเป็นส่วนเดียวกัน” หมายถึง กอง กลุ่ม, การรวมกัน (multitude, mass, aggregation)

คำว่า “พรรคการเมือง” ถ้าคิดเป็นคำบาลี เอาคำว่า “สมุห” มาต่อท้าย “รัฏฐาภิปาลน” เป็น “รัฏฐาภิปาลนสมุหะ” (รัด-ถา-พิ-ปา-ละ-นะ-สะ-มุ-หะ) แปลว่า “กลุ่มคนที่ตั้งเจตนาเข้าไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง” ก็น่าจะเข้าทีดีนักหนา

แถม :

วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ข้อสอบชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยคในศกก่อนๆ กองบาลีสนามหลวงเคยออกข้อสอบเกี่ยวกับ “การเมือง” หรือ “พรรคการเมือง” บ้างหรือเปล่า ถ้าเคย นักเรียนบาลีที่สอบได้ใช้ศัพท์ว่าอย่างไรกันบ้าง และสนามหลวงแผนกบาลีเฉลยเป็นตัวอย่างว่าอย่างไร นักเรียนบาลีที่มีใจรักบาลี ถ้าจะกรุณาตรวจสอบย้อนหลังเพื่อเป็นความรู้ ก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง 

นี่เป็นงานบาลีเล็กๆ ของนักเรียนบาลีที่ควรทำ-ดีกว่าอยู่เปล่าๆ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ดีของนักเรียนบาลี ไม่ได้อยู่ที่สอบได้อย่างเดียว

: แต่อยู่ที่ลงมือทำงานบาลีด้วย

#บาลีวันละคำ (3,970)

26-4-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *