กัยวิกัย (บาลีวันละคำ 3,971)
กัยวิกัย
ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร แต่รู้ไว้ก็ดี
อ่านว่า ไก-ยะ-วิ-ไก
(ตามพจนานุกรมฯ)
“กัยวิกัย” เป็นคำบาลี เขียนแบบบาลีเป็น “กยวิกฺกย” อ่านว่า กะ-ยะ-วิก-กะ-ยะ แยกศัพท์เป็น กย + วิกฺกย
(๑) “กย”
อ่านว่า กะ-ยะ รากศัพท์มาจาก กี (ธาตุ = ซื้อ) + อ (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อี ที่ กี เป็น อิ แล้วแปลง อิ เป็น ย
: กี > กิ > กยฺ + อ = กย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นแล้วให้ทรัพย์ของตน” หมายถึง ของซื้อ, การซื้อ (purchase, buying)
บาลี “กย” สันสกฤตเป็น “กฺรย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“กฺรย : (คำนาม) น. การซื้อ; buying, purchase, purchasing.”
(๒) “วิกฺกย”
อ่านว่า วิก-กะ-ยะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + กี (ธาตุ = ซื้อ) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (วิ + กฺ + กี), รัสสะ อี ที่ กี เป็น อิ แล้วแปลง อิ เป็น ย
: วิ + กฺ + กี = วิกฺกี > วิกฺกิ > วิกฺกยฺ + อ = วิกฺกย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำที่ต่างจากกยะ” คือ “การให้ทรัพย์ของตนแล้วถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น” หมายถึง การขาย, การค้าขาย (selling, sale)
บาลี “วิกกย” สันสกฤตเป็น “วิกฺรย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิกฺรย : (คำนาม) ‘วิกระยะ, วิกรัย,’ มคธว่า – วิกัย, การขาย; sale, selling, vending.”
กย + วิกฺกย = กยวิกฺกย (กะ-ยะ-วิก-กะ-ยะ) แปลว่า “การซื้อและการขาย”
บาลี “กยวิกกย” สันสกฤตเป็น “กฺรยวิกฺรย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“กฺรยวิกฺรย : (คำนาม) ‘กัยวิกัย,’ การซื้อชาย, การค้าขาย; buying and selling; trade, traffic.”
บาลี “กยวิกกย” ในภาษาไทยใช้เป็น “กัยวิกัย” (ไก-ยะ-วิ-ไก)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กัยวิกัย : (คำแบบ) (คำนาม) การซื้อและการขาย. (ป. กยวิกย).”
ขยายความ :
“กยวิกกย” หรือ “กัยวิกัย” เป็นศัพท์วิชาการทางพระวินัย ในอาบัติหมวดนิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ 10 บัญญัติไว้ว่า
…………..
โย ปน ภิกฺขุ นานปฺปการกํ กยวิกฺกยํ สมาปชฺเชยฺย นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ ฯ
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 113
…………..
หนังสือ นวโกวาท พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ว่า –
…………..
๑๐. ภิกษุแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคฤหัสถ์ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
…………..
คัมภีร์อรรถกถาพระวินัยอธิบายคำว่า “กยวิกฺกยํ” ไว้ดังนี้ –
…………..
กยวิกฺกยนฺติ กยญฺเจว วิกฺกยญฺจ ฯ
คำว่า กยวิกฺกยํ ได้แก่ การซื้อและการขาย
อิมินา อิมํ เทหีติ อาทินา นเยน ปรสฺส กปฺปิยภณฺฑํ คณฺหนฺโต กยํ สมาปชฺชติ
ภิกษุเมื่อถือเอากัปปิยภัณฑ์ของคนอื่นโดยนัยเป็นต้นว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ ชื่อว่าย่อมถึงการซื้อ
อตฺตโน กปฺปิยภณฺฑํ เทนฺโต วิกฺกยํ ฯ
เมื่อให้กัปปิยภัณฑ์ของตน ชื่อว่าย่อมถึงการขาย
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 267
…………..
ข้อสังเกต :
คำบาลีว่า “กยวิกฺกย” พจนานุกรมแปลว่า “การซื้อขาย” แต่หนังสือนวโกวาทแปลว่า “แลกเปลี่ยนสิ่งของ”
ตามเรื่องที่เป็นต้นบัญญัติกล่าวถึงภิกษุที่เป็นต้นเหตุแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิกับปริพาชก โดยเอาผ้าสังฆาฏิเก่าของตนแต่ย้อมสีให้ดูใหม่แลกกับสังฆาฏิใหม่ของปริพาชก ภายหลังปริพาชกนำมาขอแลกคืน ภิกษุไม่ยอมคืน ปริพาชกจึงตำหนิติเตียน เป็นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้
“กยวิกฺกย” หมายถึง “ซื้อขาย” หรือ “แลกเปลี่ยน” หรืออย่างไรกันแน่ นักเรียนบาลีพึงสอดส่องดูเถิด
แถมคำถาม :
วัดเปิดร้านขายของเพื่อนำผลกำไรมาบำรุงวัด เข้าข่าย “กยวิกฺกย” หรือไม่?
กรุณาตอบตามหลักฐาน อย่าอนุมานว่าน่าจะ …
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บัณฑิตบอกว่าบุญต้องทำเอง
: นักเลงบอกว่าบุญซื้อขายได้
#บาลีวันละคำ (3,971)
27-4-66
…………………………….
…………………………….