อารยะขัดขืน (บาลีวันละคำ 559)
อารยะขัดขืน
(บาลีสันสกฤตประสมคำไทย)
มาจาก อารยะ (สันสกฤต) + ขัดขืน (คำไทย)
“อารยะขัดขืน” เป็นคำที่คิดขึ้นจากคำฝรั่งว่า civil disobedience หมายถึง ประชาชนไม่เชื่อฟังรัฐหรือผู้มีอำนาจ แสดงออกด้วยการไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาต่าง ๆ แต่กระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ และประกาศล่วงหน้า เพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านผู้มีอำนาจอย่างสันติวิธี โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายหรือนโยบายบางประการของรัฐบาล
“อารยะ” สันสกฤตเป็น “อารฺย” บาลีเป็น “อริย” (อะ-ริ-ยะ) ความหมายที่เข้าใจกันคือ เจริญแล้ว, ประเสริฐ, ยอดเยี่ยม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “อริย” ไว้ 3 แนว คือ
1. แนวชาติพันธุ์ แปลว่า Aryan = ชนชาติหนึ่งซึ่งเป็นต้นเค้าของชาวอินเดียบางพวก ชาวอิหร่าน และชาวยุโรปบางพวก เป็นพวกที่ถือกันว่ามีความเจริญเหนือชนชาติอื่น
2. แนวสังคม แปลว่า noble, distinguished, of high birth = ผู้ดี, เด่น, อริยชาติ, สกุลสูง
3. แนวจริยศาสตร์ แปลว่า right, good, ideal = ถูกต้อง, ดี, ดีเลิศ
อริย – อารยะ แปลตามศัพท์โดยนัยแห่งพุทธธรรมว่า –
1. ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส
2. ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล
3. ผู้ไกลจากกิเลส
4. ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้
5. ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ
นักภาษาติงว่า “อารยะขัดขืน” เป็นคำที่ขัดขืนหลักเกณฑ์ทางภาษาที่ว่า คำบาลีสันสกฤตควรประสมกับบาลีสันสกฤตด้วยกัน ไม่ควรประสมต่างภาษากัน
คำบาลีที่มีความหมายตรงกับคำว่า “ขัดขืน” คำหนึ่งคือ “ปฏิเสธ” ซึ่งเราคุ้นกันดีอยู่แล้ว
ถ้าจะให้ถูกหลักเกณฑ์ทางภาษา ขอเสนอคำว่า “อารยปฏิเสธ” แปลว่า “ขัดขืนอย่างอารยชนคนที่เจริญแล้ว”
: ขัดขืนกิเลส ปฏิเสธตัณหา > นำประชาสู่ชัยชนะ
: เป็นทาสตัณหา เป็นขี้ข้ากิเลส > นำประเทศสู่หายนะ
26-11-56