บาลีวันละคำ

อคติ (บาลีวันละคำ 561)

อคติ

อ่านว่า อะ-คะ-ติ

รากศัพท์คือ > (= ไม่, ไม่ใช่) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, อยู่) + ติ ปัจจัย

อคติ” แปลตามศัพท์เท่าที่ตาเห็น –

1. ไม่ไป, ไม่ถึง, ไม่อยู่

2. ไปไม่ได้, ไปไม่ถึง, เข้าไม่ได้, อยู่ไม่ได้

อคติ” แปลตามศัพท์ที่แฝงอยู่ –

1. “กิริยาอันบุคคลไม่พึงดำเนิน

2. “การดำเนินอันไม่สมควร

ความหมายในเชิงปฏิบัติของ “อคติ” คือ –

1. ไปในที่ไม่ควรไป, อยู่ในที่ไม่ควรอยู่, เข้าไปในที่ไม่ควรเข้า, ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ

2. ไม่ไปในที่ที่ควรไป, ไม่อยู่ในที่ที่ควรอยู่, ไม่เข้าไปในที่ที่ควรเข้า, ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ

อคติ” พูดทับศัพท์ว่า อคติ หมายถึง ความลำเอียง, ความไม่เที่ยงธรรม, ความไม่ยุติธรรม

สาเหตุที่ทำให้มีอคติ ท่านแสดงไว้ 4 อย่าง คือ –

1. ฉันททาคติ = ความชอบ ความรัก เป็นญาติมิตรกัน เป็นคนบ้านเดียวกัน มาจากสถาบันเดียวกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน เอื้อประโยชน์ให้กัน ความโลภมากอยากได้ หรือแม้แต่ชอบโดยไม่ต้องมีเหตุผล

2. โทสาคติ = ความชัง ความแค้น ความเจ็บช้ำน้ำใจ ผลประโยชน์ขัดกัน ความไม่ได้ดังใจ หวังแล้วไม่เป็น-ไม่ได้ดังหวัง ไม่ชอบขี้หน้าโดยไม่มีเหตุผล

3. โมหาคติ = หลงผิด เข้าใจผิด เห็นผิดเป็นชอบ ไม่รู้ข้อเท็จจริง รู้ไม่ทัน พวกมากลากไป เฮโลสาระพาตามกันไป

4. ภยาคติ = กลัว ถูกบีบคั้น เคี่ยวเข็ญ ข่มขู่ เกรงตัวเองและญาติพี่น้องจะเดือดร้อน ต้องการเอาตัวรอด

: อคติบังตา ปัญญาบอด

: อคติปลอด เกิดปัญญา

28-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย